ลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคร้ายที่ต้องกังวล หากเครียดหนัก

เมื่อพูดถึงโรคร้ายอย่าง ลูคีเมีย (Leukemia) หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถพบได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน เป็นโรคที่พบได้ 

 865 views

เมื่อพูดถึงโรคร้ายอย่าง ลูคีเมีย (Leukemia) หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถพบได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจเป็นอย่างมาก

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อทำความเข้าใจและรู้จักให้มากขึ้น เผื่อจะเป็นตัวช่วยในการเข้าใจผู้ป่วยให้มากขึ้น หากพร้อมแล้วสามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเลยค่ะ !


ลูคีเมีย คืออะไร ?

โรคลูคีเมีย (Leukemia) หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย มักพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ นับเป็น 1 ใน 10 โรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูก มีการเจริญแบ่งตัวมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการแบ่งตัวนี้รบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่นของไขกระดูก

ซึ่งการเติบโตนี้ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ และเกล็ดเลือดลดลง การที่มีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดอื่นได้ตามปกติ และอาจแทรกซึมไปตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ระบบทำงานของร่างกายผิดปกติไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ มีจ้ำเลือดตามร่างกาย ติดเชื้อง่าย

นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังสามารถไปสะสมตามอวัยวะอื่น เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้ามโต ได้เช่นกัน ซึ่งชนิดของมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง

ลูคีเมีย



เม็ดเลือดขาวสำคัญอย่างไร

เมื่อพูดถึงเม็ดเลือดขาว เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วยในการต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ อาทิ แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราได้ รวมทั้งเป็นตัวช่วยในการป้องกันการเกิดของเซลล์ที่ผิดปกติ และสารแปลกปลอมอื่น โดยปกติแล้วในร่างกายคนเรา เซลล์เม็ดเลือดขาวจะเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เมื่อระบบภูมิคุ้มกันระดมเซลล์ไปตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ


สาเหตุของโรคลูคีเมีย

ในปัจจุบัน สาเหตุการเกิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่คาดว่าเกิดการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอของเซลล์เลือด ส่งผลให้เซลล์เติบโตผิดปกติ และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในไขกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อยลง และสูญเสียการทำงานของระบบเลือด จนนำไปสู่อาการของโรคในที่สุด

แต่ในการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ก็สามารถมาจากปัจจัยเหล่านี้ได้ เช่น การติดเชื้อ การได้รับรังสีขนาดสูง การได้รับสารเคมี โรคทางพันธุกรรม หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการก่อโรคลูคีเมียได้ อีกทั้งโรคนี้สามารถพัฒนาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมได้


ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถแบ่งแยกได้จากระยะเวลาการเกิด ซึ่งการแบ่งชนิดจะมีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด มีการดำเนินโรคและการวินิจฉัยที่ต่างกัน รวมถึงมีการแสดงอาการที่ชัดเจนแตกต่างกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคเบาหวาน (Diabetes) สาเหตุ อาการ และความเชื่อผิด ๆ

1. แบ่งตามระยะเวลาการดำเนินโรค

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (acute leukemia) : การที่เซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว อาการของโรคจะเกิดอย่างฉับพลันและรุนแรงกว่าชนิดเรื้อรัง ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันที
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (chronic leukemia) : มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังมีหลายประเภท ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละชนิด อีกทั้งความผิดปกติของมะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นช้า ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลานาน แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด

2. แบ่งตามชนิดของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซิติก (lymphocytic leukemia) : เป็นมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ในน้ำเหลือง และก่อตัวขึ้นในต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอีโลจีนัส (myelogenous leukemia) : เป็นมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ซึ่งช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ และเซลล์ผลิตเกล็ดเลือด



ลูคีเมีย



อาการของโรคลูคีเมีย

ผู้ป่วยแต่ละราย จะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดที่เป็น ซึ่งการป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติ ไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการเหล่านี้

  • ภาวะโลหิตจาง เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงลดลง
  • มีภาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวลดลง
  • มีภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติ มีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดาไหลปริมาณมาก อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงภาวะเลือดหยุดยาก เนื่องจากเกล็ดเลือดลดลง
  • มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจาก ตับ ม้ามโต
  • เกล็ดเลือดลดลง ทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติ อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงภาวะเลือดหยุดยาก
  • อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำพบก้อนตามตัวหรือปวดกระดูกได้



อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจมีอาการโดยทั่วไปที่อาจสังเกตได้ ดังนี้

  1. อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง
  2. มีไข้ หนาวสั่น
  3. เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  4. น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ
  5. ปวดหรือมีอาการกดเจ็บ บริเวณกระดูก
  6. ต่อมน้ำเหลืองบวมโต โดยเฉพาะบริเวณคอและรักแร้
  7. ตับหรือม้ามโต
  8. มีเลือดออกหรือเกิดรอยฟกช้ำง่าย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
  9. เกิดภาวะติดเชื้อบ่อย



ลูคีเมีย



นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจส่งผลให้อวัยวะที่ได้รับผลกระทบทำงานผิดปกติ และหากเซลล์มะเร็งแพร่ไปยังระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ สับสน สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อได้



ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นลูคีเมีย

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคลูคีเมีย ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเหล่านี้ ก็ส่งผลต่อการเกิดโรคได้

  1. มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  2. เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
  3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด โรคเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndrome: MDS)
  4. เคยเข้ารับการรักษามะเร็ง ด้วยการทำเคมีบำบัด หรือการทำรังสีบำบัด
  5. การสัมผัสสารเคมีบางชนิดในสิ่งแวดล้อม เช่น เบนซีน และยาฆ่าแมลง
  6. การเผชิญรังสีบางชนิดในปริมาณมาก เช่น รังสีนิวเคลียร์
  7. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม
  8. อายุมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  9. ผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อม
  10. มีพฤติกรรมสูบบุหรี่



วิธีรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

การรักษาลูคีเมียนั้น แพทย์จะทำการประเมินโรค อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ก่อนแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสม ได้แก่

1. การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

แพทย์จะใช้เป็นการรักษาหลักสำหรับชนิดเฉียบพลัน โดยยาจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาใหม่ โดยระยะในการรักษานั้นแพทย์จะพิจารณาตามชนิด ความรุนแรง และความแข็งแรงของผู้ป่วย

2. การรักษาแบบยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง มีการตอบสนองในการรักษาสูง สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ยาวนานกว่า และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด

3. การปลูกปลูกถ่ายไขกระดูก (Stem cell transplantation)

การถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือที่รู้จักในชื่อ การปลูกถ่ายไขกระดูก แพทย์จะนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วย ญาติพี่น้อง หรือผู้บริจาคที่เข้ากันได้มาปลูกถ่าย หลังจากรักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบ เพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ

4. รังสีรักษา

เป็นการรักษาที่ใช้รังสี เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และป้องกันไม่ให้เซลล์เจริญเติบโต


การติดตามผลการรักษา

หลังรักษาจนอยู่ในระยะสงบ แพทย์จะนัดตรวจและเจาะเลือดทุก 1-2 เดือนในปีแรก ถ้าปกติ จะนัดติดตามทุก 3-6 เดือนอย่างน้อย 5 ปี จึงจะถือว่าหายขาดจากโรค เพราะโอกาสกลับเป็นซ้ำจะลดลง

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำตาลในเลือดสูง รับมืออย่างไร! สัญญาณสู่เบาหวานขณะตั้งครรภ์



การดูแลตนเองของผู้ป่วย

  • ดูแลสุขอนามัยและความสะอาด โดยเฉพาะในช่องปากและฟัน
  • ไม่ควรอยู่ในที่แออัด หรือการระบายอากาศไม่ดี
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และปรุงสุกด้วยความร้อน ล้างผักให้สะอาด ปอกเปลือกผลไม้
  • ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าเครียด




วิธีการป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เนื่องจากว่าโรคลูคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ไม่มีแนวทางที่สามารถป้องกันได้ผล 100% เพราะยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด อีกทั้งปัจจัยการเกิดส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม การป้องกันที่เห็นผลได้ชัดจึงยังไม่มีวิธีที่ชัดเจน แต่หากเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น เลี่ยงการสัมผัสรังสี เลี่ยงการสัมผัสสารเบนซีน เลิกสูบบุหรี่ ก็อาจช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ได้



ความเครียดกับโรคมะเร็ง

ตั้งเข้าใจก่อนว่าการเกิดโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ การมีความเชื่อผิด ๆ หรือมีความเครียดตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ เพราะอีกหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งคือความเครียด เดิมทีแล้วร่างกายคนเรามีภูมิป้องกันที่สามารถยับยั้งมะเร็งได้ แต่ถ้าเมื่อไรเครียด จิตตก วิตกกังวล ก็จะทำให้ร่างกายทรุดโทรมจิตตก เซลล์ภูมิคุ้มกันที่จะไปทำลายเซลล์มะเร็งลดลง ทำให้มะเร็งกำเริบได้ และเป็นสาเหตุในการเป็นมะเร็งได้ค่ะ

อย่างที่บอกว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบได้บ่อยในไทย มักเป็นชนิดที่พบได้ฉับพลัน หากพบว่าคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด มีอาการผิดปกติจำพวก เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคโดยเร็ว การตรวจพบเชื้อได้เร็ว หรือตรวจพบในระยะแรก จะช่วยทำให้การตอบสนองการรักษา และมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าระยะที่ลุกลามไปแล้วค่ะ



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคแพนิค โรคที่ไม่ได้แค่นิสัยขี้ตกใจ แต่เป็นภัยร้ายทำลายสุขภาพจิต

โรคเริม เกิดจากอะไร? มาดูถึงสาเหตุ พร้อมวิธีการรักษากันดีกว่า

ช็อกโกแลตซีสต์ โรคที่ผู้หญิงทุกคนเสี่ยง แต่ถ้ายิ่งปวดหนักยิ่งอันตราย

ที่มา : 1