พัฒนาการทารก 10 เดือน ยืนได้ แสดงสีหน้าท่าทางพร้อมคำพูด

อีกไม่นานลูกรักก็จะเข้าสู่ 1 ขวบแล้ว พัฒนาการทารก 10 เดือน กำลังจะครบ 1 ปีที่ลูกลืมตามองดูโลก ในช่วงนี้ลูกมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกไม่ 

 1100 views

อีกไม่นานลูกรักก็จะเข้าสู่ 1 ขวบแล้ว พัฒนาการทารก 10 เดือน กำลังจะครบ 1 ปีที่ลูกลืมตามองดูโลก ในช่วงนี้ลูกมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกไม่นานก็จะพูดได้เป็นประโยค หรือใกล้ที่จะเดินได้แล้ว ผู้ปกครองที่อยากรู้ว่าลูกวัยนี้มีพัฒนาการอย่างไร มีเทคนิคดูแลลูกอย่างไร มาอ่านกันดีกว่า



พัฒนาการทารก 10 เดือน พร้อมสำรวจเกือบเต็มรูปแบบ

ลูกน้อยวัย 10 เดือน เป็นช่วงที่เริ่มยืนเองได้ หรือเกาะสิ่งของเพื่อเดิน แต่ก็ล้มได้ง่ายเช่นกัน สามารถเข้าใจในการแสดงสีหน้า เข้าใจความหมายในการพูดเป็นคำ ๆ พร้อมกับท่าทาง โดยรวมแล้วมีพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการทารก 8 เดือน มารู้จักวัยคลาน วัยหัดออกเสียง



วิดีโอจาก : theAsianparent Thailand



1. น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 10 เดือน

ในเรื่องของน้ำหนักและส่วนสูง ทารกเพศชายจะหนักประมาณ 8 – 10.3 กิโลกรัม และมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 69 – 77 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงวัย 10 เดือนนั้น จะมีน้ำหนักประมาณ 7.3 – 9.6 กิโลกรัม และมีส่วนสูงประมาณ 67 – 76 เซนติเมตร ในช่วงนี้จะสังเกตเห็นว่าเด็กทารกเพศชาย จะมีทั้งน้ำหนัก และส่วนสูงที่มากกว่าเพศหญิงทั้งหมด ทำให้เด็กผู้ชายดูตัวสูง และใหญ่กว่าอย่างชัดเจน ทั้งนี้น้ำหนักของทารกนั้นจะมาก หรือน้อยกว่านี้หรือไม่ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสารอาหารที่ทารกได้รับในช่วงอายุนั้น ๆ ด้วย



2. ยืนเองได้ ใกล้เดินได้ไปอีกหนึ่งขั้น

ทารกวัย 10 เดือนนี้ มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะการยืน และการแกะเดิน ผู้ปกครองจะเห็นว่าลูกน้อยสามารถลุกยืนได้ด้วยตนเอง แต่ไม่นานก็อาจล้มลงไป หรือลูกอาจเกาะสิ่งของภายในบ้านเพื่อยืนได้ด้วยตนเอง และเกาะเดินไปเรื่อย ๆ รอบบ้าน หากคลานก็จะคลานเร็วขึ้นกว่าเดิมมากขึ้น ในวัยนี้ทารกจะพยายามที่จะยืน และเดิน อาจทำให้มีการเคลื่อนไหวที่เร็วขึ้นจนผู้ปกครองตามจับไม่ทัน แต่ถ้าหากยืนด้วยตนเอง ทารกจะล้มในเวลาไม่นาน ผู้ปกครองจึงควรหาเบาะ และระวังพื้นที่นั้น ๆ ควรปรับพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกบาดเจ็บจากการล้มลงกับพื้น



3. ตื่นเต้นกับทุกอย่างที่พบเจอ

วัยนี้เป็นวัยที่ลูกน้อยจะสามารถเคลื่อนไหวได้มาก ทำให้มีโอกาสไปพบเจอสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ความสามารถที่จะสื่อสารมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความสงสัย ตื่นเต้นกับสิ่งที่ลูกไม่รู้จัก ด้วยความอยากรู้อยากเห็นนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ปกครองจะหาโอกาสในการสอนทักษะพื้นฐานให้กับลูกทั้งในด้านการสื่อสาร และด้านสติปัญญา หากผู้ปกครองทำกิจกรรมที่เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ลูกจะมีการตอบสนองที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งการอ่านหนังสือให้ฟัง หรือการให้เล่นของเล่นรูปทรงต่าง ๆ เป็นต้น



พัฒนาการทารก 10 เดือน


4. แสดงท่าทางประกอบคำพูดเป็นคำ ๆ

หลังจากพยายามหัดเป็นคำเป็นพยางค์มานาน และการพยายามแสดงท่าทางและสีหน้าตามผู้ปกครองมาก่อนหน้านี้ ในตอนนี้ทารกจะสามารถแสดงสีหน้าได้ชัดเจนแล้ว สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นในวัยนี้เมื่อเห็นผู้ปกครองทำหน้าแบบไหน ลูกน้อยจะเลียนแบบได้ในทันที นอกจากนี้การแสดงท่าทาง สีหน้าของลูกจะมาพร้อม ๆ กับการพูดคำง่าย ๆ ที่สอดคล้องกันด้วย เช่น การยกมือบ๊ายบายแล้วพูดว่า “บ๊ายบาย” หรือการส่ายหน้า ส่ายศีรษะแล้วพูดว่า “กิน” หรือ “หม่ำ” เป็นต้น



5. ไม่ชอบคนแปลกหน้า ไว้ใจแค่คนใกล้ชิด

แม้ลูกจะเรียนรู้ได้มากขึ้น สามารถแยกแยะสิ่งพื้นฐานบางอย่างได้ดี แต่ผู้ปกครองก็ยังเป็นโลกทั้งใบของลูกน้อยวัย 10 เดือนเหมือนเดิม ในตอนนี้หากลูกน้อยไปเจอกับคนอื่น ๆ จะแสดงสีหน้ากลัว หรือกังวล พยายามเข้าหาผู้ปกครอง หรือมองผู้ปกครองตลอดเวลา ดังนั้นอาจพูดได้ว่าลูกรักในตอนนี้ ถือว่าติดผู้ปกครองมาก และจะงอแงได้ง่าย หากผู้ปกครองไม่ได้อยู่ใกล้ตัว จนถึงขั้นกลัวคนแปลกหน้ามาก พยายามหนีคนที่ไม่คุ้นเคยได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะดูแปลก แต่สิ่งนี้เป็นพัฒนาการทางสังคมของลูกวัยนี้อยู่แล้ว ไม่นานลูกก็จะสามารถปรับตัวได้อย่างแน่นอน



6. เลียนแบบการกระทำ ชอบที่จะเห็นซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ

การเรียนรู้การกระทำขั้นพื้นฐานต่าง ๆ จะมาจากการเลียนแบบการกระทำของผู้ปกครอง เพราะวัยนี้สามารถเรียนรู้ และเข้าใจมากกว่าที่คิด เช่น เมื่อเห็นผู้ปกครองใช้ช้อนตักข้าว ทารกก็จะลองทำตาม ลองกินข้าวด้วยช้อน แม้จะยังไม่แข็งแรงดี หรือดูเก้ ๆ กัง ๆ ไปบ้าง เมื่อผู้ปกครองตักอาหารเข้าปากและเคี้ยว ทารกก็จะเคี้ยวอาหารตามจังหวะของผู้ปกครองด้วย หรือการเรียนรู้จากเหตุการณ์ซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดการจดจำ เช่น เมื่อทารกทำน้ำหกบนโต๊ะ ผู้ปกครองจะมาเช็ดน้ำ ทารกก็อาจจะเทน้ำลงอีก ผู้ปกครองก็จะเช็ดอีก เหตุการณ์นี้ คือ การที่ทารกพยายามเรียนรู้ว่า เมื่อน้ำหกก็จะต้องเช็ดนั่นเอง แต่เพราะการเรียนรู้ครั้งเดียวอาจจำไม่ได้ หรือไม่เข้าใจ จึงต้องพยายามทำซ้ำเรื่อย ๆ นั่นเอง



พัฒนาการทารก 10 เดือน 2


เทคนิคส่งเสริมพัฒนาการทารก 10 เดือน

  • พยายามช่วยฝึกให้ลูกยืน และเดินได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น ด้วยวิธีง่าย ๆ คือเมื่อลูกยืนก็จับแขนทั้ง 2 ข้างของลูกขึ้น ช่วยพยุงให้ลูกค่อย ๆ หัดก้าวเดินไปทีละข้าง
  • เนื่องจากเด็กวัยนี้จะติดผู้ปกครองมาก การพาลูกไปพบเจอกับเด็กวัยเดียวกัน จะช่วยปรับตัวให้ลูกสามารถเข้าสังคมได้ดีขึ้นมาก และทำให้ลูกมีเพื่อนเล่นอีกด้วย
  • เด็กวัยนี้อยากเรียนรู้ และตื่นเต้นง่าย เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก หากผู้ปกครองจะพาลูกออกนอกบ้านบ่อย ๆ ให้เขาได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ ได้ลองจับสิ่งของที่หลากหลาย แต่เมื่อกลับถึงบ้านจะต้องสอนลูกล้างมือให้สะอาดด้วย
  • ให้ลูกนอนให้ครบชั่วโมง เด็กทารก 10 เดือนควรนอนให้ได้ประมาณ 13 – 15 ชั่วโมง / วัน แบ่งเป็นนอนกลางวัน 3 – 4 ชั่วโมง 2 ครั้ง ตอนสาย และช่วงบ่าย และนอนยาวในตอนกลางคืน 11 – 12 ชั่วโมง
  • เรื่องอาหารการกินทารกวัยนี้ยังสามารถกินนมแม่ได้อยู่ แต่ก็สามารถกินอาหารอื่น ๆ ได้แล้ว ไม่ควรให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว เช่น โจ๊ก, ซุป หรือข้าวบดกับผักผลไม้ ที่เป็นสูตรของทารกโดยเฉพาะ


ทารกบางคน อาจไม่ได้มีพัฒนาการทุกอย่างเป็นไปอย่างที่กำหนด ซึ่งผู้ปกครองก็ควรช่วยฝึกลูก แต่ไม่ใช่การกดดัน ดุว่าลูก ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อลูกพร้อม พัฒนาการจะมาเอง แต่หากไม่สบายใจ ก็อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

พัฒนาการทารก 4 เดือน วัยที่พยายามเรียนรู้การสื่อสาร

ระวังพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก เรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ลืม

5 วิธีแก้ลูกติดแม่ ไปไหนลำบาก เพราะลูกงอแงเกินควบคุม

ที่มา : 1, 2