พัฒนาการทารก 6 เดือน ถึงเวลาลองอาหารที่หลากหลาย

ทารกมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาการทารก 6 เดือน เป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีทักษะ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในระดับเบื้องต้นแล้ว ลูกสามารถนั่งได้ พลิ 

 961 views

ทารกมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาการทารก 6 เดือน เป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีทักษะ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในระดับเบื้องต้นแล้ว ลูกสามารถนั่งได้ พลิกตัวได้ จับของมือเดียวได้ และสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการสังเกตภาวะผิดปกติของลูกวัยนี้ ถ้าผู้ปกครองอยากรู้คำตอบรีบอ่านจากบทความนี้

พัฒนาการทารก 6 เดือน วัยที่เริ่มลดนมแม่

ในช่วงนี้ทารกจะต้องปรับตัวตอบรับกับการทานอาหารที่เปลี่ยนไป ผู้ปกครองต้องเริ่มลดปริมาณนมแม่ และแทรกอาหารอ่อนมาแทน ในวัย 6 เดือนนี้ ทารกจะค่อย ๆ แสดงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ออกมาในระดับเบื้องต้นเท่านั้น เช่น นั่งได้แต่คลานไม่ได้ หรือออกเสียงสระ พยางค์สั้น ๆ ได้ แต่ไม่สามารถพูดเป็นคำได้ เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการทารก 4 เดือน วัยที่พยายามเรียนรู้การสื่อสาร

วิดีโอจาก : theAsianparent Thailand

1. น้ำหนักและส่วนสูงของทารก 6 เดือน

ในช่วงทารกนี้ ผ่านมาได้แค่ครึ่งทางของปีแรกเท่านั้น ทารกทั้งเพศชาย และเพศหญิงถือว่ามีขนาดตัวทั้งส่วนสูง และน้ำหนักที่ไม่ห่างกันมาก สังเกตได้ไม่ชัดเจน โดยทารกเพศชายอายุ 6 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 7.9 กิโลกรัม และมีความสูงประมาณ 67.6 เซนติเมตร

ส่วนทารกเพศหญิง จะมีน้ำหนักประมาณ 7.3 กิโลกรัม และมีความสูงประมาณ 65.7 เซนติเมตร ในช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงสำคัญสำหรับการรับสารอาหารที่เหมาะสม เช่น นมแม่ หากทารกมีความพร้อมอาจเริ่มพิจารณาลองอาหารชนิดอื่นเข้ามาเสริมได้เช่นกัน แต่นมแม่ยังคงควรเป็นมื้ออาหารหลักของทารกให้ได้นานที่สุด

2. แสดงอารมณ์ชอบใจมีความสุข

แม้จะยังไม่ใช่อายุที่ใกล้เคียงกับการสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจน แต่ทารกในช่วงวัยนี้ก็สามารถที่จะรับรู้ และแสดงอารมณ์บางอย่างออกมาได้ สามารถตอบสนองกับสิ่งที่พบเจอได้ เช่น แสดงอาการดีใจ ชอบใจ และสามารถจดจำคนใกล้ตัวได้ โดยเฉพาะผู้ปกครอง ทำให้ทารกงอแง แสดงท่าทางไปในทางลบ หากต้องอยู่กับคนแปลกหน้า เป็นต้น ในช่วงนี้ทารกจะแสดงความสงสัยออกมา เป็นสัญญาณว่าอีกไม่นานจะพร้อมเรียนรู้ได้มากขึ้นแล้ว เช่น การมองตนเองในกระจก หรือเล่นกับตนเองอย่างสนุกสนานในกระจก เป็นต้น

3. ออกเสียงได้เล็กน้อย

ลักษณะรูปแบบการสื่อสารที่ทารกวัย 6 เดือนใช้ จะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ โดยหลักแล้วจะเป็นการแสดงสีหน้าท่าทางอารมณ์ของตนเอง ประกอบกับการพยายามออกเสียงตอบ แต่อาจไม่ได้เป็นภาษาการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น ส่งเสียงตอบเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตนเอง, ออกเสียงคำพยางค์ง่าย ๆ หรือสระบางคำ เป็นต้น โดยเสียงที่ทารกส่งออกมา จะชัดเจนว่าเขารู้สึกดี หรือไม่ดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การเจอคนแปลกหน้า ลูกน้อยอาจร้องไห้ออกมา จนกว่าจะเจอหน้าผู้ปกครอง ลูกถึงจะหยุดร้อง นอกจากลูกน้อยยังสามารถร้องเพื่อเรียกหาผู้ปกครอง เวลาที่ลูกต้องการความช่วยเหลือ

พัฒนาการทารก 6 เดือน


4. สามารถนั่งได้ เคลื่อนไหวแขนขามากขึ้น

ทารกวัย 6 เดือน ยังไม่สามารถคลาน หรือยืนได้ ช่วงนี้สิ่งที่ทารกสามารถทำได้ดี คือ การนั่งด้วยตนเองอย่างคล่องแคล่ว ทารกจะชอบนั่งและโยกตัวไปมา หรือเอาเท้าถีบพื้นหากมีการสัมผัสกับพื้นที่มีลักษณะแข็งแรง ทารกจะสามารถพลิกตัวเองได้ด้วย ผู้ปกครองจะเห็นว่าทารกพยายามจะเคลื่อนตัวไปด้านหน้า หรือขยับไปด้านหลังด้วยตนเอง พยายามทรงตัว ส่วนการเคลื่อนไหวของแขน และมือนั้น ลูกจะสามารถหยิบสิ่งของได้บ้าง เช่น ถือขวดนม หรือแก้วน้ำมีหู เป็นต้น และมักเป็นการฝึกหยิบสิ่งของจากมือเพียงข้างเดียวด้วย

5. การจดจำดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากจะรู้ชื่อของตนเอง และใบหน้าของผู้ปกครอง และคนแปลกหน้าแล้ว ทารกในช่วงนี้ยังสามารถจดจำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ผ่านการกระทำซ้ำ ๆ ลูกจะมีความเข้าใจว่าเวลาไหนต้องอาบน้ำ เมื่ออาบน้ำแล้วจะต้องทำอะไรต่อ เป็นต้น และสามารถจดจำปฏิกิริยา หรือท่าทางของผู้ปกครองที่แสดงออกต่อการกระทำของตนเองได้ ในวัยนี้จะพยายามเรียนรู้ผ่านการกระทำ หรือการเห็นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนเกิดความเข้าใจ และการจดจำในเบื้องต้น ดังนั้นหากผู้ปกครองต้องการให้ลูกจดจำ หรือเรียนรู้ทักษะง่าย ๆ อาจลองเอามาทำให้ลูกดูทุก ๆ วันนั่นเอง

อาการผิดปกติของทารก 6 เดือน

การสังเกตพัฒนาการของทารกนั้น ไม่เพียงแต่การคอยดูว่าลูกมีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ แต่ยังต้องคอยสังเกตอาการความผิดปกติของทารกด้วย หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที ดังนี้

  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง ไม่แสดงออกต่อเหตุการณ์ใด ๆ แม้แต่เวลาผู้ปกครองมาเล่นด้วย เช่น ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ เป็นต้น
  • หากฝึกกินอาหารเด็กแล้วลูกอ้าปากได้ลำบาก ทำให้มีอุปสรรคในการกินอาหาร
  • การเคลื่อนไหวผิดปกติ ไม่เป็นไปตามวัย เช่น ลูกไม่ยอมนั่ง ไม่สามารถพลิกตัวได้ หรือไม่พยายามหยิบจับสิ่งของรอบตัวเลย
  • ทารกไม่ยอมพูด หรือออกเสียงใด ๆ ไม่สามารถออกเสียงสระได้
  • เมื่อจับเนื้อตัวของทารกแล้วตัวนิ่มเกินไป หรือมีความแข็งมากไป


พัฒนาการทารก 6 เดือน


โภชนาการของทารกวัย 6 เดือน

ในช่วงนี้ทารกจะกินนมแม่เป็นหลัก อย่างไรก็ตามก็ถึงช่วงขั้นต่ำที่ทารกสามารถเริ่มลดจำนวนนมแม่ได้แล้ว ในช่วงนี้ควรลดปริมาณนมแม่ลง แต่ยังเป็นมื้ออาหารหลักอยู่ และเพิ่มการทานมื้ออาหารที่เหมาะกับทารก โดยให้ลูกน้อยทานอาหารอ่อนได้ 2 – 3 ช้อนต่อ 1 ครั้ง ให้ทานวันละประมาณ 4 ครั้งนั่นเอง ในช่วงวัยนี้เมื่อทารกเห็นอาหารที่ตนเองอยากกิน หรือชอบจะสามารถแสดงท่าทางที่สนใจได้ชัดเจน ด้วยการอ้าปากตอบรับอาหารที่ผู้ปกครองป้อน อาหารที่เหมาะกับเด็กช่วงวัย 6 เดือน เช่น กล้วย, แครอท และมันฝรั่ง ที่ทำให้ละเอียด สามารถทานได้ง่าย กลืนได้ง่าย

พัฒนาการทารก 6 เดือน เป็นช่วงที่ดีต่อการพูดคุย และชวนลูกเล่นกิจกรรมง่าย ๆ แม้ลูกอาจยังไม่รู้เรื่อง หรือสื่อสารได้มาก แต่สามารถช่วยให้ลูกเกิดการจดจำ และปรับตัวเพื่อพัฒนาการในช่วงต่อ ๆ ไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

พัฒนาการทารก 8 เดือน มารู้จักวัยคลาน วัยหัดออกเสียง

พัฒนาการทารก 10 เดือน ยืนได้ แสดงสีหน้าท่าทางพร้อมคำพูด

ฝึกลูกคลาน ตอนไหนดี ? เคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทำตามได้ไม่ยาก

ที่มา : 1, 2