5 วิธีแก้ลูกติดแม่ ไปไหนลำบาก เพราะลูกงอแงเกินควบคุม

จะทำอย่างไรดี  ? เมื่อลูกติดแม่ จะไปไหนก็ไปลำบาก ลูกงอแง ไม่ค่อยยอมอยู่กับคนอื่น ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุ และสามารถแก้ไขได้ เพื่อให้ลูกเข้าใจ  

 1623 views

จะทำอย่างไรดี  ? เมื่อลูกติดแม่ จะไปไหนก็ไปลำบาก ลูกงอแง ไม่ค่อยยอมอยู่กับคนอื่น ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุ และสามารถแก้ไขได้ เพื่อให้ลูกเข้าใจ และปรับตัวได้ดีขึ้น จะทำได้อย่างไร ลองอ่านดู

4 เหตุผลทำไมลูกติดแม่ ไปไหนอยากไปด้วย

พฤติกรรมที่ลูกน้อยแสดงอาการติดคุณพ่อคุณแม่ออกมา สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเป็นได้ทั้งจากการเลี้ยงดู, การปฏิบัติต่อลูกของพ่อแม่ และปัจจัยอื่น ๆ สรุปได้ดังนี้

  • พื้นฐานนิสัยของเด็ก : เด็กหลายคนก็มีนิสัยหลายอย่างที่มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถนำเด็กแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันได้ สำหรับเด็กที่มีนิสัยขี้อาย หรือไม่มีความมั่นใจในตนเอง จะไม่ต้องการอยู่คนเดียว ไม่กล้าพูดหรือทำความรู้จักกับคนอื่น จะอยากอยู่กับคนที่ตนเองไว้ใจเท่านั้น ซึ่งนั่นก็คือคนในครอบครัวที่ไม่พ้นคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
  • เกิดจากการเลี้ยงดู : หากคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูลูกภายใต้ความเป็นห่วงที่มากเกินไป มากเกินพอดี จะกลายเป็นการยื่นมือเข้าช่วยเหลือในทุกเรื่อง ลูกจะไม่มีโอกาสได้ทำอะไรด้วยตนเองจนติดเป็นนิสัย เด็กจะคิดว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้ต้องรอผู้ปกครองเท่านั้น รู้สึกว่าต้องอยู่กับผู้ปกครองตลอดเวลาจะทำอะไร และเข้าใจไปเองว่าการอยู่ใกล้พ่อแม่จะทำให้ตนเองปลอดภัย
  • ประสบการณ์ที่ไม่ดี : นอกจากการเลี้ยงดูแล้ว ลูกน้อยอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หรือนับว่าเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายสำหรับเด็กนั่นคือ ถูกคุณพ่อคุณแม่ดุด่า หรือถูกขู่ว่าจะทิ้งไปหากทำตัวไม่ดี เช่น “ดื้อแบบนี้เดี๋ยวพาไปอยู่วัดนะ” หรือ “เดี๋ยวก็ไม่มีใครรักหรอก” จุดประสงค์ของพ่อแม่อาจมองว่าแค่อยากดุเฉย ๆ แต่สำหรับเด็กที่มองว่าพ่อแม่เป็นโลกทั้งใบ อาจเกิดความกลัวว่าจะเกิดขึ้นจริง จึงไม่อยากออกห่างจากพ่อแม่นั่นเอง
  • พันธุกรรม : นอกจากลักษณะทางกายภาพ เช่น หู, ตา, จมูก หรือส่วนสูงแล้ว การถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ มาจากพันธุกรรมยังรวมถึงลักษณะนิสัย หรือความคิดบางอย่างด้วย เช่น หากคุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งตอนเด็ก ๆ อาจเป็นคนที่ติดพ่อ หรือติดแม่มาก จะมีโอกาสที่ลูกจะเป็นแบบนั้นเช่นเดียวกัน แต่ปัจจัยนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบชัดเจนได้มากกว่าปัจจัยอื่น ๆ ด้านบน


วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care

อาการติดแม่จะเกิดขึ้นในช่วงไหน ?

จากการสำรวจพบว่าอาการติดผู้ปกครอง มักเกิดขึ้นกับเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือน – 2 ปี โดยในช่วง 9 เดือนขึ้นไปจนเกือบ 1 ปีนั้น ถือว่าไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด ลูกน้อยอาจแสดงความไว้ใจ และความต้องการที่จะอยู่กับบุคคลที่คุ้นเคย ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากทารกจะสามารถจดจำกลิ่นได้ดี จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมให้คนอื่นอุ้มจึงร้องออกมา หากผู้ปกครองให้ทารกได้มีโอกาสอยู่กับญาติคนอื่น ๆ มากขึ้น จนลูกเกิดความเคยชิน จะช่วยลดปัญหาติดพ่อหรือติดแม่ในอนาคตได้ด้วย

สำหรับเด็กอายุ 1 – 2 ปี จะเป็นช่วงที่ลูกจะไม่ค่อยกังวลเรื่องการออกจากบ้านของพ่อแม่ ซึ่งเป็นไปตามช่วงอายุ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอาการของลูกติดแม่เลย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วยนั่นเอง หากมีคนในบ้านที่ลูกคุ้นเคยอยู่หลายคน แล้วพ่อ หรือแม่ออกจากบ้านไปคนเดียว จะทำให้ลูกกังวลน้อยลง เพราะยังมีคนอื่น ๆ เหลืออยู่ เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ระวังพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก เรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ลืม

5 วิธีแก้เมื่อลูกติดแม่ แก้ได้จากการปรับตัว

หากพบว่าเวลาจะออกไปไหนลูกงอแง ลูกขอไปด้วย แต่เรามีความจำเป็นที่ต้องปฏิเสธไป แล้วลูกไม่ยอม อาการเหล่านี้สามารถแก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวของลูก และสร้างความเข้าใจให้กับลูกใหม่ ได้แก่

ลูกติดแม่


1. สร้างความคุ้นเคยกับคนอื่นบ้าง

หากมีคนใกล้ตัวอยู่ใกล้ ๆ โดยเฉพาะญาติที่ไว้ใจได้ ควรให้ลูกทำความรู้จัก ได้มีโอกาสพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยที่มากขึ้น การเพิ่มจำนวนคนที่ลูกรู้สึกว่าตนเองสามารถไว้ใจได้ จะเป็นผลดีในหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกังวลใจน้อยลง เมื่อผู้ปกครองไม่ได้อยู่บ้าน ลดปัญหาพฤติกรรมติดผู้ปกครอง รวมไปถึงได้มีโอกาสพูดคุย เข้าสังคมกับผู้อื่น ลดปัญหาการเป็นเด็กขี้อาย หรือเด็กไม่กล้าแสดงออกด้วยนั่นเอง

2.  บอกให้ลูกรู้เมื่อไปและกลับ

ก่อนจะออกจากบ้านทุกครั้งไม่ควรออกไปเฉย ๆ โดยไม่บอกกับลูกก่อน เพราะถึงแม้จะแค่ออกไปทำงาน หรือออกไปทำธุระแล้วก็กลับตามปกติ แต่เด็กเล็กอาจไม่ได้มีความเข้าใจมากพอแบบนั้น จึงควรบอกกับลูกก่อนว่าจะออกไปไหน ไปทำอะไร ทำไมจึงต้องออกไป และสัญญาว่าจะกลับมาตอนไหน เวลาไหน พร้อมกับกอด หรือหอมลูกเพื่อแสดงความรักด้วย การทำแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ลูกจะเริ่มเรียนรู้ได้เองว่าเป็นสิ่งที่พ่อและแม่ต้องทำเป็นปกติ

3. ให้เวลากับลูกบ้าง

ความต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่เป็นพื้นฐานที่ลูกทุกคนควรได้รับ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยทำงานอยู่ แน่นอนว่าจะต้องบางเวลาให้ดี หลายคนอาจคิดว่าที่ทำงานมาก ๆ ก็เพื่ออนาคตของลูกด้วย แต่อาจลืมไปว่าการให้เวลากับงานทั้งวัน แล้วกลับมากินข้าวกับลูกจากนั้นก็พาลูกไปนอน โดยไม่ทำกิจกรรมใดกับลูกเลย จะทำให้เด็กมีความต้องการที่จะอยู่กับผู้ปกครองมากขึ้นไปอีก ผู้ปกครองจึงควรใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง / วัน อาจเป็นก่อนนอนก็ได้ มาทำกิจกรรมร่วมกับลูก เช่น ดูการ์ตูน, ฟังเพลง, ร้องเพลง หรือเล่านิทาน เป็นต้น

ลูกติดแม่ 2


4. ให้ลูกได้เรียนรู้เอง

หากผู้ปกครองอยากให้ลูกไม่ติดพ่อ หรือติดแม่ ส่วนหนึ่งก็ต้องให้โอกาสเด็กตัวเล็ก ๆ ที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยตนเอง ได้ลองผิดลองถูกในเรื่องที่เรียนรู้ได้ โดยไม่เป็นอันตราย เปลี่ยนจากการตามห้าม ตามปกป้องทุกอย่าง เป็นการคอยมองดู คอยดูแลอยู่ห่าง ๆ เพื่อให้ลูกเป็นคนกล้าตัดสินใจ กล้าทำอะไรได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอการช่วยเหลือจากผู้ปกครองตลอด

5. เจอเพื่อนใหม่ ๆ

การให้ลูกได้มีโอกาสเจอเพื่อนใหม่ ๆ พาลูกไปเจอกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่แปลกไปมากกว่าการอยู่แค่ในบ้าน สามารถช่วยให้ลูกปรับตัวได้ดี กับการใช้เวลาเพื่อเรียนรู้ หรือเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ให้ลูกได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของตัวบุคคลว่าเป็นอย่างไร ยิ่งลูกมีเพื่อนเยอะ เขาจะยิ่งรู้สึกว่าตนเองไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีแค่พ่อแม่เท่านั้นจนไม่สามารถแยกจากกันได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยปรับตัวเมื่อต้องเจอเด็กคนอื่นในโรงเรียนได้อีกด้วย

เมื่อลูกติดผู้ปกครองสามารถแก้ได้ตามวิธีที่กล่าวไป แต่หากเมื่อเวลาผ่านไป ยังไม่ได้ผล หรือไม่มีอะไรดีขึ้น ผู้ปกครองสามารถพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับอาการทางจิตเวช หรือรับคำแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ หากปัญหาเกิดจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จะได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แนะนำ 4 การเล่นบทบาทสมมติ เสริมการเรียนรู้ได้ไร้ขอบเขต

8 วิธีฝึกลูกรับมือเมื่อต้องเผชิญภัยร้ายจาก “คนแปลกหน้า”

ทำไมลูกตัวน้อยจึงชอบ “โกหก” พาคุณพ่อคุณแม่มาหาคำตอบกัน

ที่มา : 1, 2