ปัญหาที่อาจเจอทุกบ้าน ลูกชอบรื้อของ หรือขว้างปาสิ่งของที่รื้อออกมา ความจริงแล้วเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ตามช่วงวัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องรู้วิธีการรับมือที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
ลูกชอบรื้อของ เป็นเรื่องปกติไหม
โดยทั่วไปแล้วพฤติกรรมรื้อของ โยนของทิ้งเป็นพฤติกรรมที่พบได้ในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่เรียกว่า “Autonomy” ซึ่งมีความหมายว่าลูกจะพยายามทดสอบด้วยตนเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ตนเองมีขีดจำกัดในการใช้กล้ามเนื้อมากแค่ไหน ถืออะไรได้ไม่ได้อย่างไร นอกจากรื้อของแล้ว ลูกวัยนี้ยังสงสัยด้วยว่าหากรื้อของออกมา เอาของมาปาเล่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือผู้ปกครองจะแสดงอารมณ์แบบไหนออกมา
พฤติกรรมการรื้อสิ่งของ ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทารกจะเรียนรู้ได้ การแสดงออกของผู้ปกครองเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ลูกจดจำได้ หากลูกมีพัฒนาการที่ดี เขาจะเข้าใจอารมณ์ของผู้ปกครองได้ด้วย เช่น เมื่อรื้อของ แล้วผู้ปกครองตามเก็บด้วยใบหน้าบึ้งตึง ลูกอาจเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำไม่เหมาะสม และทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เทคนิค เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด อารมณ์ดี เป็นอัจฉริยะ
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
ลูกรื้อของ ค้นของเป็นสัญญาณของการเรียนรู้
การที่เด็กเล็กจะเรียนรู้ได้ดี และมีประสิทธิภาพ จะต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านการกระทำด้วยตนเองเสมอ เด็กที่ชอบรื้อของเขาจะได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากผู้ปกครองตัดสินใจที่จะห้ามลูกตลอด ไม่ให้ลูกมีโอกาสได้รื้อของเลย เพราะชอบความเป็นระเบียบ อาจเป็นการปิดกั้นโอกาสเรียนรู้ของลูกน้อยไปในตัวด้วยนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือ การปรับแวดล้อมของบ้านให้มีความเหมาะสมกับความซนของลูก เพื่อให้ลูกปลอดภัย ประกอบกับการสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เรื่อย ๆ หากมากเกินกว่าจะรับได้ ก็ควรเตือนลูก พยายามพูดคุยอ้อม ๆ หรือปรึกษาแพทย์ เป็นต้น
4 วิธีรับมือลูกซนชอบรื้อของ
เมื่อลูกซนมาก ไปที่นั่นที่นี่ รื้อของตรงนั้นที ตรงนี้ที ผู้ปกครองอาจไม่ได้มีเวลาที่จะไปห้าม ไปดูลูกตลอดเวลาขนาดนั้น เรื่องนี้จึงกลายมาเป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจพอสมควร เรามีวิธีแนะนำให้ผู้ปกครองลองนำไปใช้ดู เพื่อรับมือกับลูกซนชอบรื้อของได้มากขึ้น ดังนี้
1. สำรวจความปลอดภัย
คงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้ลูกซน เพราะทุกครั้งที่ลูกอยู่นอกสายตา ลูกก็อาจไปค้นข้าวของตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน โดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว ปัญหานี้หากไม่สามารถแก้ หรือป้องกันได้โดยตรง สิ่งที่ตามมาคือ จะต้องระวังข้าวของ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ เช่น ของมีคมต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงของขนาดเล็กที่ลูกสามารถหยิบจับเอาเข้าปากได้ เนื่องจากเด็กวัยนี้มักจะอยากรู้อยากลอง ผู้ปกครองควรนำของเหล่านี้เก็บแยกเอาไว้ในที่สูงที่ปลอดภัยมั่นคง หรือเก็บเอาไว้ในจุดที่มั่นใจว่าลูกจะเข้าไปไม่ได้ และสะดวกต่อการนำมาใช้งานของผู้ปกครองด้วย
2. ปรับพื้นที่ชวนลูกเล่น
เด็กเล็กมักสนใจของที่จับได้เล่นได้เสมอ หากห้ามให้ลูกไปหาของมาจับเล่นไม่ได้ ก็สร้างพื้นที่ของเล่นให้กับลูกไปเลย ก็ถือเป็นความคิดที่ดีเหมือนกัน การที่ลูกชอบจับของ รื้อของ เป็นสัญญาณของการเรียนรู้ที่ดี ก็น่าส่งเสริมเหมือนกัน เพียงแค่สร้างพื้นที่เฉพาะขึ้นมา แล้วนำตะกร้าใส่ของเล่นต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยมาวางไว้ใกล้ ๆ ลูก ร่วมกับการจำกัดบริเวณนั้นให้มีความกว้าง มีความปลอดภัย มีเบาะรอง และควรเป็นพื้นที่ใกล้สายตาของผู้ปกครอง เพื่อคอยสังเกตลูกรักได้ตลอด และไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองอยู่คนเดียว
3. ชวนลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ
นอกจากการจัดพื้นที่ให้ลูกเล่นแล้ว การเรียนรู้ การเล่นของลูกสามารถทำได้หลายวิธี ผู้ปกครองสามารถหาเวลาว่างเพื่อพาลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากการนั่งเล่นของเล่น เช่น เปิดเพลงแล้วร้องเพลงให้ลูกฟัง ให้ลูกลองเต้น หรือสอนลูกวาดรูประบายสีก็ได้เช่นกัน การแนะนำให้ลูกได้ลองทำกิจกรรมอื่น ๆ สามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจให้ลูกอยากทำสิ่งนั้น ๆ มากกว่าต้องมานั่งรื้อของอย่างเดียวได้ แถมยังเป็นโอกาสที่จะได้ใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวอีกด้วย
4. มากเกินไปต้องตักเตือน
การที่ลูกชอบค้นของ รื้อของนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน หากผู้ปกครองรับมือได้อย่างดีแล้ว แต่พฤติกรรมของลูกหนักขึ้น และควบคุมได้ยาก ผู้ปกครองก็ควรตักเตือนลูก แสดงออกถึงความจริงจัง ให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถควบคุมได้ ก่อนที่จะรู้สึกเครียดไปมากกว่านี้ เราแนะนำให้ผู้ปกครองลองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นตัวเลือกในการรับมือได้ที่ดีเช่นกัน
ควบคุมอารมณ์ปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา
ช่วงแรกที่ลูกรื้อของผู้ปกครองอาจชอบใจ แต่เมื่อลูกทำมากเกินไป เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจกลายเป็นปัญหาของผู้ปกครองได้เช่นกัน สิ่งที่จะตามมา คือ ความเครียด หรือทำให้ผู้ปกครองรู้สึกไม่พอใจ อยากดุอยากว่าลูกให้จบ ๆ ไป แต่การทำแบบนั้นไม่ใช่ทางออกของปัญหาแน่นอน เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ลูกน้อยอาจทำให้ผู้ปกครองรู้สึกถึงความไม่พอใจ ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกเครียดได้อีกแน่นอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของลูกวัยช่วง 3 ปี
ด้วยลูกน้อยจะต้องเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้อง และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่เรื่อย ๆ คนที่จะคอยควบคุม และตักเตือนลูกให้รู้ถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมจะต้องเป็นผู้ปกครองอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ปกครองต้องใจเย็น ๆ ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการดุด่า หรือทุบตี แต่ใช้กิจกรรม หรือการจัดการในเชิงสร้างสรรค์แทน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสม หากผู้ปกครองรู้สึกว่าตนเองเครียดเกินไป ก็ควรไปปรึกษากับแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการจัดการกับความเครียดของตนเองอย่างถูกต้อง
การดูแลลูกน้อยในช่วงวัยกำลังเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน แต่การแสดงออกอย่างการหยิบจับสิ่งของ ลูกชอบรื้อของ เพราะมีความสงสัยนั้น ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่บอกว่าลูกมีพัฒนาการ และอยากที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อเด็กเล็ก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ วัยที่ทำทุกอย่างได้คล่องขึ้น
ทำไมลูกถึงชอบปีนป่าย ลูกอย่าไม่นิ่งควรทำอย่างไร ลูกจะชอบปีนป่ายเมื่อไหร่