ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

เพราะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มักเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด แล้วเมื่อคุณแม่เดินทางมาถึง ระยะเวลาการ ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ คุณแม่มีการเปลี่ยน 

 1704 views

เพราะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มักเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด แล้วเมื่อคุณแม่เดินทางมาถึง ระยะเวลาการ ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรบ้าง และพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในครรภ์ มีความเติบโตอย่างไรบ้างในช่วงนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ

อย่างที่บอกว่าช่วงแรกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่ความเสี่ยงของการแท้งบุตรลดลงอย่างมาก ช่วงเวลา 2-3 เดือนแห่งความยากลำบากของการเริ่มต้นตั้งครรภ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว หากคุณแม่ท่านใดยังไม่ได้ประกาศข่าวดี เรื่องการตั้งครรภ์กับครอบครัว ช่วงเวลาที่ครรภ์มีอายุครบ 13 สัปดาห์ ก็นับว่าเป็นเวลาที่เหมาะจะเล่าเรื่องที่น่ายินดีแล้วค่ะ

แต่ลำดับถัดไปของการพ้นไตรมาสแรก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบก็คือ หลังจากนี้ไปจนกว่าจะถึงกำหนดการคลอดเจ้าตัวน้อย คุณแม่อาจจะรู้สึกอึดอัดหรือหายใจติดขัดเพิ่มมากขึ้น เพราะลูกในท้องเริ่มโตมากขึ้นเรื่อย ๆ มดลูกขยายใหญ่ไปกดปอด อาจจะรู้สึกหายใจไม่สะดวกไปจนคลอดเลยค่ะ แล้วพัฒนาการส่วนอื่นจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ!

13 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

สำหรับคุณแม่ที่กำลังหาคำตอบว่าการตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ที่คุณหมอพูดนั้นหมายถึง นับแล้วก็ไม่มั่นใจสักทีว่ากี่เดือนกันแน่ เรามีคำตอบมาให้ค่ะ อายุครรภ์ 13 สัปดาห์เท่ากับ 3 เดือนค่ะ

ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์



ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ ลูกในท้องตัวแค่ไหน

ก่อนอื่นเลย ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ที่เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 อย่างเป็นทางการ ในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 13 ทารกในครรภ์จะมีความยาวถึง 7.4 เซนติเมตร เทียบแล้วพอ ๆ กับลูกน้ำนม หรือ Star Apple

พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 13

จากก่อนหน้านี้ที่ศีรษะของลูกน้อยใหญ่กว่าตัวมาก ๆ ในสัปดาห์ที่ 13 นี้ ทารกในครรภ์แขนขาจะเริ่มยาวแล้วและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแขนของเจ้าตัวน้อยที่เริ่มเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น เจ้าตัวน้อยมีขนาดพอ ๆ กับมะนาวเหลือง ไตและกล้ามเนื้อปากเพื่อใช้ดูดนมแม่หลังคลอดทำงานได้เองแล้ว ลองลูบ ๆ ที่ท้องดูเบา ๆ แล้วคุณจะสัมผัสได้ว่าลูกกำลังขยับตัว ลูกมีรอยนิ้วมือน้อย ๆ ตาและหูก็จะเริ่มชัดเจนขึ้น สิ่งเหล่านี้คุณจะได้เห็นเมื่อมีนัดอัลตราซาวนด์ครั้งต่อไป

เริ่มมีลายนิ้วมือเล็ก ๆ เกิดขึ้นแล้ว ดวงตา และหูของทารก ก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ของทารก รวมถึงระบบภายในร่างกายของทารก ได้เจริญเติบโตและทำงานอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งลูกอัณฑะของทารกเพศชาย และรังไข่ของทารกผู้หญิง นอกจากนั้นการเต้นของหัวใจเริ่มได้ยินดังและชัดขึ้นแล้วด้วยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 1 – 42 สัปดาห์ ติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์

อายุครรภ์ 13 สัปดาห์คุณแม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร

ช่วงนี้ท้องของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่จนเห็นชัดมากขึ้น และมีอาการแพ้ท้องหรืออ่อนเพลียน้อยลง เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มคงที่ แต่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดอาจยังมีอาการแพ้ท้องให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ได้แก่

ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์



น้ำหนักขึ้น

ในช่วงนี้น้ำหนักตัวคุณแม่จะเพิ่มจากเดิมประมาณ 0.6-2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ ในรายที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักด้วยตัวเองเพื่อผลดีต่อการตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไปควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น

หน้าท้องเริ่มขยาย

การขยายตัวของผิวหน้าท้อง อาจส่งผลให้เกิดรอยแตกลายได้ อาจใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ และปรึกษาแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ใดทุกครั้ง

สภาพผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ มักส่งผลต่อผิวพรรณของคุณแม่ด้วย โดยอาจทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและแก้ม ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย และจะหายไปหลังจากการคลอดบุตร

เต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลง

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มักส่งผลให้บริเวณลานหัวนมมีสีเข้มขึ้น และอาจมีอาการคัดเต้านมไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

สิ่งที่ควรทำในการตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 13

  • แจ้งหัวหน้าที่ทำงานว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์
  • เริ่มคิดเรื่องคนช่วยดูลูก
  • ถ้าคุณแม่มีลูกคนโตแล้ว เริ่มเตรียมจิตใจลูกให้พร้อมสำหรับการมีน้อง



อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 13

คุณแม่อาจสังเกตว่าในสัปดาห์นี้ อาการต่าง ๆ เปลี่ยนไปเล็กน้อย ตอนนี้คุณแม่อาจไม่มีอาการคลื่นไส้เหลืออยู่แล้ว (หรืออาจจะหายไปในอีกไม่นาน) และอาจไม่ต้องงีบกลางวันอีกต่อไป แต่อาการดังต่อไปนี้อาจยังมีอยู่นะคะ

  1. เส้นเลือดที่ชัดขึ้น : คุณแม่จะเห็นเส้นเลือดชัดขึ้นใต้ผิวหนังเพราะการไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้นค่ะ
  2. มีกำลังมากขึ้น : ช่วงนี้รู้คุณแม่ท้องจะมีอาการน้อยและมีกำลังกายกลับมามากที่สุด เมื่อคุณแม่รู้สึกสดชื่นขึ้นอีกครั้งและมีพลังที่จะทำอะไรหลายอย่าง คุณแม่อาจจะอยากทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เสร็จสิ้น หากช่วงหลังมานี้คุณแม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยสบายและเหนื่อยเกินกว่าจะออกกำลังกาย ตอนนี้ได้เวลากลับไปออกกำลังแล้วนะคะ การออกกำลังกายจะช่วยให้การคลอดลูกเป็นไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
  3. มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น : หากท้อง 13 สัปดาห์แล้ว คุณแม่ยังมีความรู้สึกต้องการทางเพศอยู่ก็ถือว่าโชคดีมาก ถ้าหลังการมีเพศสัมพันธ์พบว่าคุณแม่มีเลือดออก ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่ในช่วง 13 สัปดาห์นี้ค่ะ เพราะปากมดลูกของคุณแม่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ แต่ถ้ามีเลือดออกมากเหมือนประจำเดือน ต้องรีบแจ้งให้คุณหมอทราบโดยด่วน
  4. ปวดศีรษะ : อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ อาจมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น น้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ นอนไม่หลับ หรือเกิดความเครียด ดังนั้นคุณแม่ควรรู้จักผ่อนคลายความเครียด และเอาใจใส่สุขภาพให้มากขึ้น แต่หากอาการไม่ดีหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้คุณแม่อาจป้องกันได้ด้วยการทานของว่างและดื่มน้ำให้เพียงพอ
  5. มีตกขาวมากขึ้น : เป็นเรื่องปกติที่หญิงตั้งครรภ์จะมีตกขาว เพื่อช่วยป้องกันช่องคลอดจากการติดเชื้อต่าง ๆ อย่างไรก็ตามควรสังเกตความผิดปกติของตกขาวเสมอ หากพบว่ามีสีปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว สีชมพู หรือสีน้ำตาล ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการคลอดก่อนกำหนด
  6. เลือดออกกะปริบกะปรอย : การมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงได้ โดยหากมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีเลือดไหลออกมามากร่วมกับอาการปวดเกร็งหน้าท้อง ควรรีบแจ้งแพทย์เพื่อความปลอดภัย



อาหารบำรุงครรภ์ สำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์

ในช่วงนี้อาการแพ้ท้องเริ่มหายไปและทำให้อยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะของหวาน เพราะระดับน้ำตาลจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และบางครั้งการรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าปกติ อาจนำไปสู่ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงสำคัญสำหรับตัวคุณแม่ในช่วงนี้

แต่ในคุณแม่บางคนอาจจะยังแพ้ท้องอยู่ บางคนก็หายจากอาการแพ้แล้ว ซึ่งสารอาหารบำรุงครรภ์ที่ยังจำเป็นอยู่ ได้แก่ โปรตีน โฟเลต แคลเซียม วิตามินต่าง ๆ และควรกินอาหารให้รบ 5 หมู่ เป็นประจำทุกวัน อย่าลืมที่จะดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้ได้วันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

อัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายของคุณแม่จะเร็วกว่าปกติ การกินวิตามินบี 3 จะมีส่วนช่วยในเรื่องของกระบวนการเผาผลาญอาหาร และยังช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อีกด้วย อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 3 ได้แก่ ปลา เนื้อไก่ เนื้อสัตว์ เห็ด และถั่ว เป็นต้น

ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์



เคล็ดลับการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์

สิ่งที่ควรระมัดระวังในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์คือภาวะแท้ง ซึ่งเสี่ยงเกิดขึ้นได้สูง และแม้จะมีความเสี่ยงน้อยลงในช่วงปลายเดือนที่ 3 คุณแม่ก็ควรสังเกตอาการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์

  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • มีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอดผิดปกติ
  • มีเลือดไหลกะปริบกะปรอยติดต่อกันมากกว่า 3 วัน
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นจุดภายในลานสายตา
  • รู้สึกแสบขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะขัด
  • มือ เท้า และใบหน้าบวม
  • มีอาการปวดหรือเป็นตะคริวที่แขนขาและหน้าอก


ที่สำคัญคุณแม่ควรพกกระดาษทิชชูติดตัวไว้ตลอด จะมีอาการคัดจมูกบ่อย ๆ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเป็นหวัด แต่จะเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ระยะ 13 สัปดาห์ อาจมีภาวะเลือดกำเดาไหล ร่วมกับอาการหูอื้อที่พบได้บ่อย สาเหตุเกิดจากเส้นเลือดขยายตัวไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณโพรงจมูกและหูมากขึ้น

น้ำหนักที่เหมาะสมของแม่ตั้งครรภ์ ควรเพิ่มขึ้นระหว่าง 10-12 กิโลกรัมเท่านั้น การกินเผื่อลูกจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เลือกที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในท้อง ในช่วงนี้คุณแม่เริ่มมองหาเสื้อผ้าสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่สวมสบายได้เลยค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ที่มา : 1, 2, 3