ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

สวัสดีค่ะคุณแม่ทุกท่าน เข้าสู่ช่วงเวลาใกล้คลอดแล้ว คุณแม่ทุกคนคงตื่นเต้นกันใช่ไหมคะ ในช่วงนี้คุณแม่ควรเตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเสมอ ซึ่ง 

 1868 views

สวัสดีค่ะคุณแม่ทุกท่าน เข้าสู่ช่วงเวลาใกล้คลอดแล้ว คุณแม่ทุกคนคงตื่นเต้นกันใช่ไหมคะ ในช่วงนี้คุณแม่ควรเตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเสมอ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 36 ก็เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเช่นกัน วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่มาติดตามกันว่า ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไร ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และมีเคล็ดลับอะไรที่คุณแม่ควรดูแลตัวเอง ไปติดตามกันค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ท้อง 36 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน คำตอบคือ ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ เท่ากับ 9 เดือนแล้วนะคะ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้นก่อนจะถึงวันคลอด คุณแม่อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์นั้นใช้ระยะเวลา 40 สัปดาห์ ซึ่งแปลว่านานกว่า 9 เดือนตามที่หลายคนเข้าใจกันเล็กน้อย

ทารกในครรภ์อายุ 36 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง

เข้าสู่ช่วง 9 เดือนแล้ว ในสัปดาห์นี้ลูกน้อยจะมีขนาดตัวเท่ามะละกอแล้วค่ะ โดยจะมีความยาวตั้งแต่หัวถึงนิ้วเท้าประมาณ 18.7 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 5.8 ปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์พัฒนาการได้อย่างเต็มที่เลยค่ะ เรามาดูกันดีกว่าว่าทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงจากช่วงสัปดาห์ที่แล้วอย่างไรบ้าง

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

น้ำหนักเพิ่มขึ้น

ในช่วงนี้ลูกน้อยในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ประมาณหนึ่งออนซ์ต่อวัน ซึ่งเมื่อลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกน้อยมีความแข็งแรงอุดมสมบูรณ์ หากคุณแม่ไปตรวจร่างกายแล้วพบว่าทารกในครรภ์มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจจะเป็นต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่ และผักใบเขียว เพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในครรภ์ค่ะ

มีขี้เทา

ขี้เทาเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่ทารกกลืนเข้าไปช่วงอยู่ในท้องแม่ ทำให้มีอุจจาระสะสมอยู่ในลำไส้ ขี้เทาจะมีลักษณะขุ่น เหนี่ยว และมีสีเข้มถึงสีดำ ซึ่งขี้เทาสีดำนี้ สามารถยึดติดกับผิวทารกได้ ร่างกายของลูกจึงจำเป็นต้องขับขี้เทาออกจากลำไส้ให้หมดหลังจากคลอด 2-3 วัน หากคุณแม่ต้องการทำความสะอาดลูกน้อยสามารถใช้ผ้าชุบน้ำ หรือน้ำมันมะกอกเช็ดผิวของลูกน้อยได้นะคะ

ลูกกลับหัว

ในช่วงสัปดาห์นี้ ลูกน้อยจะกลับหัวเพื่อเตรียมคลอด และจะทำท่านี้ไว้กระทั่งคลอด หากคุณแม่เคยมีลูกมาแล้ว ลูกอาจใช้เวลากลับหัวเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด แต่ถ้าหากทารกไม่ยอมกลับหัว แพทย์จะพยายามช่วยโดยการหมุนเปลี่ยนท่าทารก ด้วยการใช้มือดันผ่านหน้าท้องค่ะ หรือไม่ก็แนะนำให้คุณแม่กิจกรรมที่ช่วยให้ลูกน้อยอยู่ในท่ากลับหัวเตรียมคลอด

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง

เหลือเวลาอีกแค่ 4 สัปดาห์ คุณแม่อาจรู้สึกว่าเผชิญกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากทารกในครรภ์ใกล้คลอด เรามาดูกันค่ะว่าในช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

หายใจสบายขึ้น

ทารกในครรภ์ได้เคลื่อนที่มายังอุ้งเชิงกราน ทำให้บริเวณส่วนปอดมีพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่หายใจได้สบาย เพราะก่อนหน้านี้ คุณแม่อาจรู้สึกหายใจลำบาก เพราะทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่ และส่งผลให้ไปเบียดช่วงปอดจนทำให้คุณแม่หายใจลำบากนั่นเอง

นอนไม่หลับ

ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีความเครียด และความกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ทารกในครรภ์จะถึงเวลาใกล้คลอด คุณแม่จึงอาจนอนไม่หลับในตอนกลางคืน จนเกิดอาการง่วงเพลีย ดังนั้นให้พยายามทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ และออกกำลังกายเพื่อช่วยให้คลายความเครียด ก็จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน?

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

หน่วงอุ้งเชิงกราน

ช่วงตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะเคลื่อนตัวมายังบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้คุณแม่รู้สึกหน่วงเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง คุณแม่ควรสังเกตดูอาการที่เกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติ และมีการบีบตัวอย่างสม่ำเสมอ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

แสบร้อนกลางอก

เนื่องจากลูกในครรภ์ของคุณแม่กำลังเติบโต จึงอาจไปรบกวนระบบย่อยอาหารจนทำให้คุณแม่เกิดอาการแสบร้อนที่บริเวณหน้าอก อย่างไรก็ตามนี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นปกตินะคะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป โดยคุณแม่สามารถหายาลดกรดมารับประทานได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด อาหารหมักดอง หรืออาหารมัน ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ นอกจากนี้ หากคุณแม่จะรับประทานยาลดกรด อย่าลืมปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ เพื่อจะได้ไม่เกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์

เท้าบวม

ยิ่งเข้าสู่ช่วงใกล้คลอดแล้ว คุณแม่อาจมีอาการเท้าบวม เจ็บเท้า หรือใส่รองเท้าแล้วคับ คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะนี่เป็นอาหารที่เกิดขึ้นปกติเมื่อคุณแม่ใกล้คลอด โดยบางครั้งคุณแม่อาจมีอาการเท้าบวม ขาบวม มือบวม และอาจทำให้เกิดอาการตะคริวตามมา อย่างไรก็ตามอาการบวมเหล่านี้ จะค่อย ๆ หายไปหลังจากที่คุณแม่คลอดบุตรแล้ว

เคล็ดลับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง และทารกในครรภ์มีพัฒนาการทางร่างกายมากขึ้น คุณแม่จึงต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้คลอดแล้ว ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์มีเคล็ดลับอะไรที่คุณแม่ควรดูแลตัวเองบ้าง

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ยิ่งคุณแม่นอนไม่ค่อยหลับ ยิ่งจำเป็นต่อการพักผ่อนมากขึ้น ทางที่ดีคุณแม่พยายามอย่านอนดึกมากเกินไปนะคะ และก่อนนอนให้พยายามเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น และพยายามไม่ต้องคิดมาก และกังวลใจ เพราะจะส่งผลไปยังทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ คุณแม่อาจหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นโยคะ หรือพิลาทิส ก็จะช่วยให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น

ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

อย่างที่รู้ว่าในช่วงใกล้คลอด คุณแม่อาจมีเรื่องต่าง ๆ มากมายให้กังวลใจ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรเครียดมากนะคะ เพราะจะทำให้คลอดบุตรยากได้ หากคุณแม่มีเวลาให้ลองนั่งสมาธิ หรือเล่นโยคะ ก็จะช่วยให้จิตใจสงบ และผ่อนคลายมากขึ้น หากคุณแม่คนไหนไม่สะดวกในการนั่ง ก็สามารถนอนสมาธิแทนได้นะคะ ก็จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

บทความที่เกี่ยวข้อง : พิลาทิส ทางเลือกในการออกกำลังกายของแม่ท้องยุคใหม่

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ช่วงตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก คุณแม่ควรรับประทานผัก ผลไม้ เพื่อช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโต และได้สารอาหารสำคัญ ซึ่งคุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ พยายามหลีกเลี่ยงของหมัก ของดอง และของมัน ก็จะช่วยให้ร่างกายได้ประโยชน์จากสารอาหารต่าง ๆ เต็มที่

งดเดินทางไกล

เข้าสู่ช่วงใกล้คลอดแล้ว คุณแม่ไม่ควรเดินทางไกลนะคะ โดยเฉพาะการไปเที่ยวต่างจังหวัด เพราะหากเกิดอาการปวดท้องคลอดขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ ทางที่ดีคุณแม่ควรพักผ่อนอยู่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอดจะดีกว่า

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับคุณแม่มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ต้องเครียด และกังวลมากนะคะ เพราะอาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ในช่วงนี้คุณแม่ควรพักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมในการคลอดอีกไม่กี่สัปดาห์ หากคุณแม่สงสัยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะเป็นอย่างไรต่อ สามารถติดตามเรื่องราวการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรานะคะ หรือเลือกบทความเกี่ยวกับเรื่องตั้งครรภ์ในสัปดาห์ถัดไป หรือสัปดาห์ก่อนหน้าได้ที่ด้านล่างนี้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี?

ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์ และพัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ครรภ์ 37 สัปดาห์ ช่วงแรกของกำหนดคลอด มีอะไรที่สำคัญบ้าง?

ที่มา : 1, 2, 3