ครรภ์ 37 สัปดาห์ ช่วงแรกของกำหนดคลอด มีอะไรที่สำคัญบ้าง ?

ในช่วงของแม่ท้องครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ถึงจุดกำหนดคลอดตามมาตรฐานของคนท้อง ทำให้ต้องคอยสังเกตสัญญาณของการคลอดให้ดี ในช่วงนี้ขนาดตัวของ 

 1469 views

ในช่วงของแม่ท้องครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ถึงจุดกำหนดคลอดตามมาตรฐานของคนท้อง ทำให้ต้องคอยสังเกตสัญญาณของการคลอดให้ดี ในช่วงนี้ขนาดตัวของทารกในครรภ์ และการกลับหัวของทารกมาที่เชิงกรานของคุณแม่ จะส่งผลให้คุณแม่มีอาการแปลกไป เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือรู้สึกแน่นท้องมากกว่าเดิม เป็นต้น

ครรภ์ 37 สัปดาห์พร้อมคลอดแล้วหรือไม่ ?

ตามมาตรฐานของแม่ท้องมักจะมีกำหนดคลอดอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 37 – สัปดาห์ที่ 40 หากคุณแม่คลอดก่อนสัปดาห์ดังกล่าว จะถูกนับว่าเป็นการ “คลอดก่อนกำหนด” และหากคลอดหลังจากสัปดาห์ที่กล่าวมานั้นจะนับเป็น “ครรภ์เกินกำหนด” ถึงจะมีการกำหนดคลอดเอาไว้ แต่แม่ท้องส่วนมากอาจพบว่าตนเองคลอดไม่ตรงกำหนด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถพบได้โดยทั่วไป หากมีปัญหาเกี่ยวกับการคลอด หรือกำหนดคลอดควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ

หากคุณแม่ยังไม่คลอด และแพทย์วินิจฉัยว่าเสี่ยงภาวะอันตราย แพทย์จะตัดสินใจเร่งคลอดให้คุณแม่ เช่น  ทำให้ปากมดลูกเปิดมากขึ้น, การกวาดปากมดลูก หรือกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก เป็นต้น เพื่อให้คุณแม่ และทารกในครรภ์มีความเสี่ยงจากภาวะอันตรายได้น้อยลงนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : สรุป สิทธิประกันสังคมแม่ท้อง ปี 2565 สิทธิไหนที่คุณแม่ต้องรู้ !

https://www.youtube.com/watch?v=X–HWbtyBwY

วิดีโอจาก : โตไปด้วยกัน Family Journey

พัฒนาการของทารกในครรภ์ 37 สัปดาห์

ในตอนนี้ขนาดตัวของทารกจะใหญ่มากแล้ว ตามมาตรฐานประมาณ 19 นิ้ว หรือเท่ากับหัวผักกาดขนาดใหญ่ เป็นช่วงที่ทารกพร้อมคลอด มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6.3 ปอนด์ และมีผมยาวอย่างเห็นได้ชัดประมาณ 3.7 เซนติเมตร ทารกที่ดูสมบูรณ์นี้สามารถขยับนิ้วมือได้แล้ว และชอบดูดนิ้วมือของตนเองด้วย นอกจากนี้ทารกในครรภ์จะสามารถหายใจได้ โดยจะสูดเอาน้ำคร่ำเข้าไป ทารกจะเตรียมตัวกับการคลอดด้วยการกลับหัวลงมา ส่วนหัวของทารกจะอยู่ที่ตำแหน่งของเชิงกราน ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่จึงต้องเตรียมความพร้อมเสมอ เพื่อรับมือกับอาการคลอดได้ทันท่วงที

อาการของคุณแม่ท้องสัปดาห์ที่ 37 มีอะไรบ้าง ?

ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงที่ถึงช่วงแรกของกำหนดคลอด สิ่งที่สำคัญคือการเฝ้าดูสัญญาณของการคลอด โดยในระหว่างนั้น คุณแม่จะมีอาการต่าง ๆ จากการตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง ตัวอย่างเช่น

  • มีอาการปวดแน่นแสบกลางอก : เป็นผลกระทบจากขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้น จนเกิดการกดทับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่ท้องรู้สึกแน่น ร้อนที่บริเวณอก หรือจุดที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น : เกิดจากทารกที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น และเริ่มกลับตัวพร้อมสำหรับการคลอด ทำให้ทารกไปอยู่ในจุดเชิงกราน ส่งผลให้เกิดอาการปวดแน่น บริเวณท้องส่วนล่าง และขนาดตัวของทารกยังเบียดกับอวัยวะในระบบปัสสาวะ ทำให้เกิดการกดทับ ส่งผลให้แม่ท้องปัสสาวะมากขึ้นในช่วงใกล้คลอด
  • นอนหลับยากขึ้น : หนึ่งในอาการที่อาจสร้างความกังวลให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์นั่นคือ อาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก สามารถเลี่ยงได้ด้วยการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเอาหมอนมาช่วยหนุน เพื่อให้กลับตัว หรือเปลี่ยนฝั่งได้ง่ายขึ้นระหว่างคืน
  • มีตกขาวมากกว่าปกติ : ในช่วงใกล้คลอด มดลูกของคุณแม่จะขยับเปิดมากขึ้น ส่งผลให้ของเหลวต่าง ๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เช่น ตกขาว สามารถไหลออกมาได้มากกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตามอาการนี้ก็ต้องระวังเอาไว้ด้วย เพราะมีความใกล้เคียงกับอาการน้ำเดินสัญญาณหนึ่งของการคลอด


ครรภ์ 37 สัปดาห์


การอัลตราซาวนด์ครรภ์อายุ 37 สัปดาห์จะเห็นอะไรบ้าง ?

ทารกในช่วงนี้อาจแสดงท่าทางให้เห็นได้หลายแบบ เช่น การดูดนิ้วมือ, การหายใจ, การขยับนิ้วมือ และการกะพริบตา เป็นต้น การตรวจอัลตราซาวนด์อาจเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจ Biophysical profile (BPP) ประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ และตรวจ Nonstress test (NST) การเฝ้าระวังสุขภาพทารกในครรภ์ แพทย์อาจคุยกับคุณแม่เรื่องวิธีการคลอด เพื่อให้เตรียมตัวไว้ก่อน โดยกำหนดคลอดอาจเลื่อนออกไป คุณแม่ไม่ควรรีบเร่งการคลอด ควรปรึกษากับแพทย์เพื่อหากำหนดที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความพร้อมของครรภ์

สามารถเลือกการคลอดเองได้หรือไม่ ?

เมื่ออยู่ในช่วงกำหนดคลอด ไม่ว่าจะคุณแม่คนไหนก็อยากเลือดการคลอดแบบธรรมชาติมากกว่าการผ่าคลอดแน่นอน เพราะไม่ต้องเสี่ยงมีแผลเป็น แต่การเลือกรูปแบบการคลอด คุณแม่จะไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากจะต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์อย่างละเอียด หากพบว่าคุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพครรภ์ที่ดี ไม่มีความเสี่ยงภาวะอันตรายใด ๆ ก็สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ แต่หากพบว่ามีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้คลอดได้ลำบาก เช่น ทารกในครรภ์ไม่ยอมกลับหัว หรือทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติทำให้คลอดยาก แพทย์จะพิจารณาทำคลอดด้วยการผ่าตัดแทน

ดังนั้นหากคุณแม่ต้องการเลี่ยงการผ่าคลอด ต้องให้ความสำคัญในปัจจัยที่ควบคุมได้ด้วยตนเอง นั่นคือการดูแลครรภ์ให้ดีทั้งการทานอาหาร และกิจวัตรในแต่ละวันที่ปลอดภัย และแม่ท้องควรทำความเข้าใจด้วยว่า การผ่าคลอดเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาครรภ์คลอดยาก ไม่ได้หมายความว่าทารกจะเสี่ยงเสียชีวิต หรือบาดเจ็บแต่อย่างใด

บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?

ครรภ์ 37 สัปดาห์ 2


สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกว่าทารกกำลังจะคลอด

เมื่ออยู่ในสัปดาห์ที่อาจเกิดการคลอดของทารก ให้คุณแม่สังเกตอาการของตนเองให้ดี ซึ่งมีอาการที่สำคัญหลายอาการ ดังนี้

  • มีมูกเลือด หรือมูกขาว : มูกที่ไหลออกมาเป็นมูกจากมดลูกที่ช่วยปกป้องทารกในครรภ์ในครรภ์ เมื่อปากมดลูกเปิดตัวออก จะทำให้มูกเหล่านี้ออกมาได้หลายรูปแบบทั้งไหลออก หรือออกมาเป็นก้อน อาจเป็นเพียงมูกขาว ๆ หรือมีเลือดผสมออกมาด้วย
  • ปวดท้อง ไม่สบายท้อง : หากคุณแม่มีอาการคลื่นไส้ และไม่สบายท้อง รู้สึกปวดเจ็บแน่นบริเวณท้อง เป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าทารกพร้อมจะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว
  • มีอาการน้ำเดิน : น้ำสีใส ๆ ขาว ๆ อาจคล้ายตกขาว สิ่งเหล่านี้คือน้ำคร่ำ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีสีที่ใสกว่า หากมีอาการนี้ไม่ควรรอช้า ควรไปโรงพยาบาลให้ไวที่สุด
  • รู้สึกว่าเกิดการบีบตัว : หากสัมผัสได้ว่ามดลูกเกิดการบีบตัวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ควรรอให้เกิดการบีบตัวซ้ำ หรือไม่ควรรอให้หยุดบีบตัว ควรไปพบแพทย์ไว้ก่อน


อาการเหล่านี้ หรืออาผิดปกติอื่น ๆ ในช่วงใกล้คลอดสำคัญมาก หากมีอาการที่สงสัยไม่ควรรอเวลาเพื่อให้แน่ใจ แต่ให้ไปพบแพทย์เอาไว้ก่อนยิ่งดี เพราะถ้าหากเป็นสัญญาณการคลอดจริงจะทำให้สามารถรับมือได้ทันจากสัญญาณแรก ๆ ส่งผลให้คุณแม่ท้อง และแพทย์มีเวลาเตรียมพร้อมได้มากยิ่งขึ้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

อัลตราซาวนด์ สำคัญอย่างไร เหตุผลที่คุณแม่ท้องควรตรวจทุกไตรมาส

ตกเลือดหลังคลอด อันตรายไหม ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

ที่มา : 1, 2