คนท้องกินตับได้ไหม ทำให้ทารกเป็นพิการจริงหรือไม่ ?

เมื่อตั้งครรภ์แล้ว อาจเกิดคำถามหลายต่อหลายอย่างกับแม่ท้อง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ต้องคอยห่วงว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ วันนี้หากใครก 

 1643 views

เมื่อตั้งครรภ์แล้ว อาจเกิดคำถามหลายต่อหลายอย่างกับแม่ท้อง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ต้องคอยห่วงว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ วันนี้หากใครกำลังสงสัยอยู่ว่า คนท้องกินตับได้ไหม เพราะได้ยินมาว่าไม่ดีต่อทารกในครรภ์ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

คนท้องกินตับได้ไหม ?

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศอังกฤษพบว่าการทานตับของคนท้องนั้นสามารถทานได้ แต่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากการทานตับมากเกินไปสามารถส่งผลให้ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการได้จริง โดยในงานวิจัยนั้นได้ติดตามดูหญิงตั้งครรภ์จำนวนทั้งหมดจำนวน 22,748 คน แล้วนำสถิติมาเปรียบเทียบจากการคลอดว่ามีทารกกี่คนที่พิการ  โดยจะเทียบกับขนาดของวิตามินเอ ที่แม่ท้องได้ทานไประหว่างการตั้งครรภ์

ซึ่งผลการวิจัยชี้ออกมาว่า หากคุณแม่ตั้งครรภ์ทานวิตามินเอ ในปริมาณมากกว่าวันละ 10,000 IU ขึ้นไป จะส่งผลให้เกิดความพิการต่อทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์ของคนทั่ว ๆ ไปประมาณ 3.7 เท่า หรือก็คือทารกสามารถเกิดความพิการได้ 1 คน จากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่กินวิตามินเอในปริมาณที่สูงเกินพอดี 57 รายนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ธัญพืช อาหารบำรุงคนท้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่และลูกน้อย

วิดีโอจาก : แม่ แอนด์ ลูก สตอรี่

ทำไมวิตามินเอจึงเป็นอันตรายต่อทารกได้ ?

ข้อมูลจากองค์กรเพื่อความปลอดภัยของอาหารแห่งฟินแลนด์ ได้เสนอให้เห็นว่า ทารกในครรภ์บางรายอาจมีปฏิกิริยาไปในทางลบต่อวิตามินเอได้ และอาจส่งผลให้เกิดการแท้งตามมาได้ด้วย ถึงแม้จะไม่ใช่กับทารกทุกคน แต่การระวังไว้อาจดีกว่าแก้แน่นอน นอกจากที่ต้องเลี่ยงการทานตับในปริมาณมากจนเกินไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าแม่ท้องยังควรหลีกเลี่ยงการบริโภค หรือใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำมันตับปลาในปริมาณมากเกินพอดี เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ท้อง และทารกในครรภ์

คนท้องกินตับได้ไหม


คนท้องกินตับอย่างไรให้ปลอดภัย ?

สำหรับวิตามินเอนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายต่อหลายแบบ ทั้งแบบธรรมชาติที่เรากำลังกล่าวถึง มีมากในตับของสัตว์ที่เรามักรับประทานกัน ส่วนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เม็ดยา มักพบวิตามินเอได้ในยารักษาโรคผิวหนัง เช่น รักษาสิว (RENTINOL) หรือครีมบำรุงต่าง ๆ เนื่องจากวิตามินมีสรรพคุณ และประโยชน์หลายประการ ถึงแม้วิตามินเอปริมาณสูงจะทำให้ทารกเสี่ยงพิการ หรือแท้ง แต่การรับวิตามินเอในปริมาณมากก็เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน สำหรับคำแนะนำในวงการแพทย์นั้น กล่าวว่าการบริโภควิตามินเอทุกชนิด ไม่ว่าจะมาจากไหน บุคคลทั่วไป และหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานวิตามินเอเสริมเกินวันละประมาณ 4,000 – 8,000 IU ในความเป็นจริงแล้ว อาหารที่เราทานกันอยู่ทุกวันนี้ ต่างก็มีวิตามินเออยู่แล้ว อาหารที่มีวิตามินเอมาก และมักถูกนำมาทาน ตัวอย่างเช่น ตับ, นม, ไข่, เนื้อ,  ไก่, และปลา เป็นต้น หากกินอาหารเหล่านี้อยู่เป็นประจำ แม่ท้องก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกินวิตามินเอเสริมใด ๆ เข้าไปแล้ว

ซึ่งปริมาณวิตามินเอที่ส่งผลให้เกิดความพิการ คือ มากกว่า 50,000 IU ขึ้นไป โดยปกติแล้วการรับประทานตับเฉลี่ยวันละประมาณ 1 มื้อ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็ไม่ได้ส่งผลทางลบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์แต่อย่างไร เพราะตามความเป็นจริงแล้ว หากเทียบใน 1 สัปดาห์ คนทั่ว ๆ ไปคงมีโอกาสรับประทานตับได้มากที่สุดไม่ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าน้อย และอยู่ในปริมาณที่จัดว่าปลอดภัยสำหรับคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์อย่าได้กังวลมากจนเกินไป แต่ถ้าหากว่าคุณแม่เป็นคนที่ชอบทานตับอยู่แล้ว ชนิดที่ว่าทานวันละมากกว่า 1 มื้อต่อวัน คงต้องลดปริมาณลงเพื่อป้องกันความเสี่ยง

คนท้องกินตับได้ไหม 2


นอกจากวิตามินเอที่มากเกินไปจากตับ ยังมีอะไรอีกที่ต้องระวัง ?

สารอาหารบางอย่างเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ หากนำไปเทียบกับร่างกายของบุคคลทั่วไป แต่กับคนท้องอาจไม่เหมือนเดิม จากที่มีประโยชน์ หากไม่ระวังอาจกลายเป็นอันตรายได้ หรือสารอาหารบางอย่างส่งผลเสียอยู่แล้วกับคนทั่วไป สำหรับคนท้องจึงต้องระวัง เพราะความปลอดภัยไม่ใช่สำคัญแต่คนเป็นแม่เท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อทารกในครรภ์ด้วย อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  • ปลาบางชนิด : อาหารทะเลเป็นแหล่งสารอาหารที่มีประโยชน์หลายต่อหลายชนิด ซึ่งเป็นที่แนะนำของแม่ท้อง แต่ยังมีปลาบางสายพันธุ์ที่มีสารปรอทตามธรรมชาติในปริมาณมากเกินพอดี ซึ่งคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ปลาอินทรี, ปลาโอ, ปลาไทล์ฟิช, ปลาฉลาม, ปลากระโทงแทงดาบ หรือปลาขนาดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น
  • ไข่ดิบ : หากนำไข่ไปประกอบอาหารอย่างถูกวิธี จะส่งผลดีต่อแม่ท้องได้มากกว่า การทานไข่ดิบ หรือเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ เช่น ไอศกรีม หรือมายองเนส เป็นต้น ควรสังเกตให้ดี เนื่องจากในไข่ดิบมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย “ซาลโมเนลล่า (Salmonella)”
  • มะละกอดิบ : ไม่ว่าจะมาแบบดิบ หรือยังไม่สุกดี ผลไม้อย่างมะละกอก็อาจเป็นอันตรายต่อแม่ท้องได้เช่นกัน ยิ่งเมนูโปรดของคุณแม่หลายคน เช่น ส้มตำ มักใช้มะละกอเหล่านี้ เนื่องจากเอนไซม์ที่มาจากยางของมะละกอ สามารถส่งผลให้มดลูกบีบตัว และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
  • ต้นอ่อนพืชดิบ : อาหารดิบต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เนื้อดิบเท่านั้นที่ควรเลี่ยง แต่พืชผักดิบ ๆ ก็ต้องระวัง ไม่ว่าจะเป็น ถั่วงอกถั่วเหลือง, ถั่วงอกถั่วเขียว, ต้นอ่อนหัวไชเท้า หรือต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น ที่มักถูกนำมาทานกันบ่อย ๆ คุณแม่ท้องควรเลี่ยงอาหารประเภทนี้ไปก่อน
  • อาหารเนื้อตัดเย็น (Cold cut) : อาหารประเภทเนื้อแช่เย็นที่เรามักเห็นตามห้างสรรพสินค้า มีอันตรายต่อแม่ท้อง และทารกมากกว่าที่คิด เนื่องจากเสี่ยงต่อการเจือปนเชื้อ “แบคทีเรียลิสทีเรีย (Listeria)” ซึ่งเป็นเชื้ออันตราย หากรกมีปัญหาแล้วเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ทารกได้ อาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้


แม่ ๆ คงจะรู้แล้วว่าคนท้องกินตับได้ไหม เรื่องของอาหารการกิน อาจกลายมาเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจมากจนคุณแม่ตั้งครรภ์รำคาญ หรือรู้สึกไม่เป็นอิสระ แต่การเลี่ยงอาหารที่ไม่ปลอดภัยกับครรภ์ก็ถือเป็นการกระทำที่เหมาะสม และคุ้มค่าต่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์อย่างแน่นอน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

เนื้อปลา ดีต่อแม่ท้องอย่างไร คนท้องกินปลาอะไรได้บ้าง ?

แคนตาลูป ช่วยบำรุงครรภ์อย่างไร แม่ท้องกินแคนตาลูปได้ประโยชน์ไหม ?

เนื้อวัว กินแล้วมีประโยชน์อย่างไร ? แม่ท้องสามารถกินได้ไหม

ที่มา : 1, 2