ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก ท้องอืด หรือโรคลำไส้แปรปรวน รวมทั้งอาการท้องเสียที่สร้างความทรมานให้กับคุณแม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และพฤติกรรมของการรับประทานอาหาร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการท้องเสียจะหายเองได้ภายใน 2-3 แต่หากคุณแม่อาการนานกว่านั้น ก็อาจเป็นอันตรายได้ วันนี้ Mama Story จะพามาดูกันว่า คนท้องท้องเสีย รับมืออย่างไร และสามารถรับประทานยาอะไรได้บ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ
คนท้องท้องเสีย เกิดจากอะไร
อาการท้องเสียในช่วงตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่โดยหลัก ๆ แล้ว มักเกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง จนทำให้เกิดอาการท้องผูก รวมทั้งยังสามารถเร่งการทำงานของระบบย่อยอาหาร จนทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้น หากคุณแม่มีการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง แต่ยังมีอาการท้องเสีย อาจเกิดจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
2. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่หลายคนมักมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้อง อยากรับประทานอาหารแปลก ๆ ของเปรี้ยว หรือของหมักดอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารอย่างกะทันหันนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และอาหารเป็นพิษได้
3. ไวต่ออาหาร
ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีภาวะไวต่ออาหารมากขึ้น โดยอาหารที่คุณแม่กินเป็นประจำในช่วงตั้งครรภ์ หรือกินแล้วไม่เคยเป็นอะไร แต่เมื่อมากินช่วงตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ท้องอืด คลื่นไส้ และท้องเสียได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายรูปแบบหนึ่ง
4. รับประทานวิตามินมากเกินไป
แม้ว่าการรับประทานวิตามินระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยบำรุงสุขภาพของคุณแม่ และการเจริญเติบโตของลูกน้อย แต่หากรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้มีอาการท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสีย และไม่สบายท้องได้ เนื่องจากวิตามินไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คุณแม่จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานวิตามิน เพื่อให้แพทย์ช่วยวางแผนการรับประทานอย่างถูกวิธี
5. ใกล้คลอดลูก
ยิ่งเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด คุณแม่อาจมีอาการท้องเสียเป็นปกติ เนื่องจากร่างกายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนก็อาจไม่มีอาการท้องเสียในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ดังนั้น คุณแม่จึงอาจต้องเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้คลอดนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย มีวิธีแก้ท้องอืดอย่างไร?
ท้องเสียอันตรายต่อคนท้องไหม
อาการท้องเสียในช่วงตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และจะหายได้เอง ซึ่งในส่วนใหญ่นั้น จะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงใกล้คลอด แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง อาหารเป็นพิษ ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดศีรษะ และมีไข้สูงเกิน 38.5 องศา ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ รวมทั้งหากคุณแม่มีอาการปวดเบ่ง อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำขุ่นขาว และอุจจาระมีกลิ่นเหม็นมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
แม่ท้องท้องเสียรับมืออย่างไร
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการท้องเสียจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน คุณแม่อาจมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากท้องเสียทำให้ถ่ายเป็นน้ำ จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำนั้นเอง ดังนั้น คุณแม่จึงต้องดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และทดแทนเกลือแร่ที่เสียไป นอกจากนี้ คุณแม่ยังอาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย
- หากอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และรักษาอาการต่อไป
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีอาการท้องเสีย ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีกากใยสูง และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียรุนแรงมากขึ้น
- กินยาฆ่าเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนท้อง เช่น ยาในกลุ่มแอมพิซิลลิน หรืออะม็อกซีซิลลิน หลีกเลี่ยงการรับประทานยาในกลุ่มแก้อักเสบ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ ก็อาจทำให้คุณแม่อ่อนเพลียได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรหยุดทำกิจวัตรประจำวัน และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง
แม่ท้องท้องเสียกินยาอะไรได้บ้าง
คุณแม่ที่มีอาการท้องเสียอาจสงสัยว่า คนท้องสามารถกินยาอะไรได้บ้างเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เรามาดูกันดีกว่าว่าแม่ท้องท้องเสียสามารถรับประทานยาอะไรได้บ้าง
- เกลือแร่ : เมื่อคุณแม่ท้องเสียเป็นเวลานาน อาจทำให้มีภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย และไม่มีแรง ดังนั้น คุณแม่จึงควรชงเกลือแร่ดื่มเพื่อทดแทนปริมาณน้ำ และเกลือแร่ที่สูญเสียไป
- ยาหยุดถ่าย : หากคุณแม่มีอาการท้องเสียมาก และถ่ายไม่หยุด สามารถรับประทานยาหยุดถ่ายแค่ 1 แคปซูลเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากคุณแม่มีอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์ทันที
- ยาแก้ปวดท้อง : สำหรับคุณแม่ที่มีอาการท้องเสีย ร่วมกับอาการปวดท้อง สามารถรับประทานยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และอาการปวดเกร็งช่องท้องได้นะคะ
- ยาผงถ่านแก้อาการท้องเสีย : ยาผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย มีสรรพคุณในการดูดซับสารพิษออกจากร่างกาย และช่วยรักษาอาการท้องเสีย ท้องอืด และท้องเฟ้อ จัดเป็นอีกหนึ่งยาที่คุณแม่ท้องสามารถรับประทานได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องท้องผูก ทำอย่างไร เบ่งอุจจาระแรงลูกจะเป็นอันตรายไหม?
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
หากคุณแม่มีอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป นอกจากนี้ คุณแม่บางคนยังอาจมีภาวะขาดน้ำที่รุนแรงได้ ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน เรามาดูอาการที่คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์กันดีกว่า
- มีไข้ และปวดท้องอย่างรุนแรง
- ต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการท้องเสีย
- อุจจาระเป็นสีดำ หรือท้องเสียปนเลือดหรือหนอง
- มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปวดหัว กระหายน้ำ วิงเวียนศีรษะ และปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม
คนท้องท้องเสีย เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ปกติในช่วงตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่หากคุณแม่ท้องเสียเกิน 2-3 วัน มีภาวะขาดน้ำ ถ่ายเป็นมูกปนเลือด ถ่ายไม่หยุด หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินเยอะขึ้นเพราะอะไร กินแบบไหนถึงไม่อ้วน?
แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า?