กำเดาไหลตอนท้อง อันตรายไหม แม่ท้องเลือดกำเดาไหลทำไงดี?

กำเดาไหลตอนท้อง อาจทำให้คุณแม่หลาย ๆ คน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่อาจรู้สึกเครียด และกังวลใจ กลัวว่าร่างกายจะมีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ แ 

 1541 views

กำเดาไหลตอนท้อง อาจทำให้คุณแม่หลาย ๆ คน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่อาจรู้สึกเครียด และกังวลใจ กลัวว่าร่างกายจะมีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ แต่จริง ๆ แล้ว ในช่วงตั้งครรภ์อาการเลือดกำเดาไหลเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และอาจไม่อันตรายอย่างที่คิด วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ไปดูกันว่า คนท้องเลือดกำเดาไหล เกิดจากอะไร เป็นอันตรายไหม และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ

เลือดกำเดาไหล คืออะไร

เลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่มีเลือดออกจากจมูกข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง โดยไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากเส้นเลือดภายในโพรงจมูกแตก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาการนี้อาจไม่ใช่สัญญาณอันตรายที่ร้ายแรงของโรค เพราะเส้นเลือดภายในโพรงจมูกนั้นบาง และแตกได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม อาการเลือดกำเดาอาจเกิดจากอาการป่วยที่รุนแรง และความผิดปกติในโพรงจมูกได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกเลือดหลังคลอด อันตรายไหม ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

เลือดกำเดาไหล

ชนิดของอาการเลือดกำเดาไหล

โดยทั่วไปแล้ว ชนิดของอาการเลือดกำเดาไหลสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ตามลักษณะการเกิดดังต่อไปนี้

  • เลือดออกจากโพรงจมูกส่วนหน้า : เกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยเกิดจากเส้นเลือดบริเวณจมูกส่วนหน้าแตกจนทำให้มีเลือดไหลออกมา ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองได้
  • เลือดออกจากโพรงจมูกส่วนหลัง : เกิดจากเส้นเลือดบริเวณจมูกส่วนหลัง หรือส่วนที่อยู่ลึกในโพรงจมูกแตกจนทำให้มีเลือดไหลออกมา และอาจไหลเข้าลำคอ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งยังอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยของโรคร้ายแรง โดยอาการเลือดออกในส่วนนี้ควรได้รับการรักษาจากแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างแน่ชัด

สาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหล

ปกติแล้วเลือดกำเดาไหลมักเกิดจากเส้นเลือดฝอย หรือเส้นเลือดใหญ่ภายในโพรงจมูกแตก ซึ่งสาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหล มักเกิดขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • จามบ่อย ๆ
  • ล้วงหรือแคะจมูก
  • สั่งน้ำมูกแรงเกินไป
  • การใช้ยาแอสไพรินในปริมาณที่มากเกินไป
  • จมูกได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง หรือมีการประสบอุบัติเหตุ
  • อุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในอากาศแห้ง และอากาศหนาว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่อยู่ในช่วง 2-10 ปี และผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วง 50-80 ปี
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทำให้โพรงจมูกแห้ง เช่น ยารักษาไข้หวัด ยาแก้คัดจมูก ยารักษาโรคภูมิแพ้ และยารักษาไซนัสอักเสบ เป็นต้น

ทำไมแม่ท้องเสี่ยงเลือดกำเดาไหลบ่อย

อย่างที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่าหลอดเลือดภายในโพรงจมูก จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก และเปราะบาง ซึ่งในช่วงตั้งครรภ์นั้น ร่างกายของคุณแม่จะผลิตเลือดออกมามากขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายขยายใหญ่เพื่อรองรับการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเมื่อหลอดเลือดบริเวณโพรงจมูกขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็ย่อมส่งผลทำให้แตกง่ายนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมแม่ท้องจึงมีความเสี่ยงในการเกิดเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ นอกจากนี้ อาการเลือดกำเดาไหลในช่วงตั้งครรภ์อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

เลือดกำเดาไหล
  • การได้รับสารเคมีบางชนิดที่มาจากยาพ่นจมูก
  • การได้รับบาดเจ็บ หรือจมูกถูกกระแทกอย่างรุนแรง
  • โรคความดันโลหิตสูง และโรคที่ส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของเลือด
  • ภาวะเยื่อจมูกอักเสบระหว่างตั้งครรภ์ จนส่งผลให้คุณแม่มีอาการคัดจมูก และเลือดกำเดาไหล
  • เยื่อบุภายในโพรงจมูกแห้ง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะขาดน้ำ การอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ หรือสถานที่ที่มีอากาศแห้งมาก เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติ และเสี่ยงต่อการเกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่ายกว่าปกติ
  • ภูมิแพ้หรือไข้หวัด ส่งผลให้หลอดเลือดในโพรงจมูกอักเสบ และเกิดอาการระคายเคือง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เส้นเลือดในโพรงจมูกแตกได้ง่ายขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดหัว รับมืออย่างไร แม่ท้องปวดหัวอันตรายต่อลูกในครรภ์ไหม?

กำเดาไหลตอนท้องทำอย่างไร

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อาจพบกับอาการเลือดกำเดาไหล สามารถบรรเทาอาการง่าย ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้เพื่อหยุดเลือด

  • ยืนหรือนั่งตัวตรง พยายามไม่เงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน
  • บีบจมูกเบา ๆ ค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที ซึ่งในระหว่างนี้ควรหายใจทางปากแทน แล้วบ้วนเลือดทิ้งเสมอ
  • หากเลือดกำเดาไหลมาก ๆ อาจก้มหน้าลงเล็กน้อยขณะบีบจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ จากนั้นประคบน้ำแข็งบริเวณดั้งจมูกเพื่อช่วยให้หลอดเลือดหดตัวลง
  • เมื่อบีบปีกจมูกครบเวลาที่กำหนด ให้สังเกตอาการอีกครั้ง หากเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล หรือไหลเกิน 30 นาที ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

หากเลือดกำเดาหยุดไหลแล้ว คุณแม่ไม่ควรเอนหลัง แคะจมูก หรือสั่งน้ำมูกนะคะ รวมทั้งการทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ต้องใช้แรง เช่น การยกของหนัก หรือการออกกำลังกายเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดไหลซ้ำค่ะ

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหล

การป้องกันอาการเลือดกำเดาไหลระหว่างตั้งครรภ์อาจทำได้ยาก เพราะอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นโดยที่คุณแม่ไม่ทันตั้งตัว แต่คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือแคะจมูกบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ หรือออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ใช้เครื่องทำความชื้น หรือภาชนะใส่น้ำเพื่อเพิ่มระดับความชื้นของอากาศภายในบ้าน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • หากคุณแม่รู้สึกว่าจะจาม ควรอ้าปาก แล้วใช้กระดาษทิชชูปิดปาก หรือจามใส่ข้อพับแขนแทน
  • ทาปิโตรเลียมเจลลีบาง ๆ บริเวณโพรงจมูก หรือใช้สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในโพรงจมูก

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

เลือดกำเดาไหล

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

หากคุณแม่มีเลือดกำเดาไหลบ่อยในช่วงตั้งครรภ์ ควรไปหาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้รักษาอย่างถูกจุด โดยคุณแม่อาจสังเกตได้ว่ามีเลือดไหลมาก เลือดไหลไม่หยุดหลังผ่านไป 30 นาที แม้ว่าจะบรรเทาอาการแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากคุณแม่ที่มีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการเลือดกำเดาไหลก็ต้องรีบไปพบแพทย์ด้วย เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ มีไข้ ปวดท้อง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ตัวซีน ดวงตา หรือผิวหนังซีด เป็นต้น เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่รุนแรงได้

แม้ว่าอาการเลือดกำเดาไหลจะพบได้บ่อยระหว่างการตั้งครรภ์ และมักไม่มีอาการรุนแรง แต่หากคุณแม่ป่วยเป็นโรคความดันสูง เลือดกำเดาไหลบ่อย หรือพบว่าเลือดกำเดาไหลนานเดิน 30 นาที โดยไม่สามารถบรรเทาอาการได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ หากคุณแม่มีอาการเลือดกำเดาไหลร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายแก่ร่างกาย และลูกน้อยได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า?

อาการแพ้ท้อง คืออะไร คุณแม่รับมืออย่างไรไม่ให้แพ้ท้อง?

แม่ท้องง่วงนอนบ่อย เกิดจากอะไร ทำอย่างไรให้ง่วงน้อยลง

ที่มา : 1, 2, 3