ท้องแฝด ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ความเสี่ยงที่อันตรายกว่าที่คิด

การมีลูกแฝดอาจเป็นเรื่องที่หลายคู่มองว่าน่ารัก ตั้งครรภ์ครั้งเดียวแต่ได้ลูกถึง 2 คน แต่รู้หรือไม่ว่าการ ท้องแฝด ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ความ 

 1517 views

การมีลูกแฝดอาจเป็นเรื่องที่หลายคู่มองว่าน่ารัก ตั้งครรภ์ครั้งเดียวแต่ได้ลูกถึง 2 คน แต่รู้หรือไม่ว่าการ ท้องแฝด ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับคุณแม่และลูกน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพราะการอุ้มท้องลูกมากกว่า 1 คน ในท้องเดียวกันนั้นอาจนำไปสู่ความผิดปกติของการตั้งครรภ์หลายประการ ตั้งแต่การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น วันนี้ Mama Story จะพามาหาคำตอบกันว่า การท้องลูกแฝด อันตรายจริงไหม แล้วถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ควรจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ท้องแฝด คืออะไร ?

การตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป ได้แก่ แฝดคู่ (Twins) แฝดสาม (Triplets) แฝดสี่ (Quadruplets) มักเรียกรวบ ๆ ว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝด (Multiple pregnancy) โดยครรภ์แฝดมีผลทำให้เพิ่มภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ทั้งต่อมารดาและทารก โดยพบว่ายิ่งจำนวนทารกมากขึ้น โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก็ยิ่งสูงขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายปริกำเนิดของแฝดสองและแฝดสาม พบว่าสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวเป็น 5 และ 10 เท่าตามลำดับ

ท้องแฝด



ปัจจัยการท้องแฝด

ถ้าในสมัยก่อนอัตราก็จะอยู่ที่ 3 ใน 1,000 แต่ในปัจจุบันพบว่า การตั้งครรภ์แฝดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอด มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้พร้อม

  • การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก : เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนในร่างกายก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและผันผวน ซึ่งอาจนำไปสู่การตกไข่มากกว่า 1 ใบ ทำให้มีโอกาสที่จะท้องแฝดได้
  • ครอบครัวมีประวัติการท้องลูกแฝด : ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีลูกแฝด หรือเกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นแฝด อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการตั้งครรภ์แฝดได้
  • คุณแม่มีน้ำหนักตัวมาก : คนที่น้ำหนักตัวมากมีโอกาสจะมีครรภ์แฝดสูง เพราะมีไขมันส่วนเกินในร่างกายสูง ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น จนไปกระตุ้นรังไข่ให้ตกไข่มากกว่า 1 ใบในช่วงไข่ตก
  • มีประวัติรักษาภาวะเจริญพันธุ์หรือภาวะการมีบุตรยาก : การกินยารักษาภาวะมีบุตรยากบางชนิด อาจไปจนไปกระตุ้นรังไข่ให้ตกไข่มากกว่า 1 ใบในช่วงที่มีการตกไข่
  • การทำเด็กหลอดแก้ว : ซึ่งในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์อาจใส่ตัวอ่อนเข้าไปมากกว่า 1 ตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  • การทำกิ๊ฟท์ : โดยในกระบวนการแพทย์จะนำเอาไข่และอสุจิที่ผสมแล้วด้วยน้ำยา จากนั้นจึงฉีดใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่อีกครั้ง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ โดยในการฉีดแต่ละครั้งอาจฉีดตัวอ่อนที่ได้รับการผสมเข้าไปหลายตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  • การทำ IUI : โดยกระบวนการในการทำ IUI (Intra Uterine Insemination) แพทย์จะเลือกเอาเฉพาะอสุจิที่แข็งแรง แล้วฉีดเข้าไปที่โพรงมดลูก โดยในการฉีดแต่ละครั้งแพทย์อาจฉีดอสุจิที่แข็งแรงเข้าไปหลายตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

ชนิดของท้องแฝด

  1. Monozygotic (Identica) twins คือ ครรภ์แฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิของไข่ใบเดียวกับอสุจิตัวเดียว เพศของทารกจะเป็นเพศเดียวกัน
  2. Dizygotic (Fraternal) twins คือ ครรภ์แฝดที่เกิดจากการผสมของไข่ 2 ใบกับอสุจิ 2 ตัว เพศของทารกอาจจะเป็นเพศเดียวกัน หรือ ต่างเพศกัน

ท้องแฝด



ประเภทของท้องแฝด

  • ท้องแฝดที่มีรกสองอัน และถุงน้ำคร่ำแยกกัน
  • ท้องแฝดที่มีรกอันเดียว แต่ถุงน้ำคร่ำแยกจากกัน
  • ท้องแฝดที่มีรกอันเดียว และใช้ถุงน้ำคร่ำเดียวกัน

ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป แต่ประเภทที่มีความเสี่ยงสูงและแพทย์จะเป็นห่วงมากก็คือประเภทที่ 3 ซึ่งกลุ่มนี้อาจมีปัญหาได้หลายอย่าง ตั้งแต่ตัวติดกัน อวัยวะอื่น ๆ ติดกัน หากไม่ใช่กรณีตัวหรืออวัยวะติดกัน อาจจะมีกรณีเด็กดิ้นมากจนสายสะดือพันกันในที่สุด ทำให้เด็กทั้ง 2 คนเสียชีวิตก็เป็นไปได้ หรือการแย่งอาหารกันของทารกในครรภ์ เพราะรกมีอันเดียว จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องของน้ำหนักของทารกและเรื่องการเจริญเติบโตช้า

ท้องแฝด คือการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง ?

การตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง คือการตั้งครรภ์ที่แม่และลูกมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตสูงกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป มีหลายปัจจัยที่ทำให้การตั้งครรภ์กลายเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูงได้ เช่น เคยแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป, คุณแม่มีโรคประจำตัว, ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี, ตั้งครรภ์มีรกเกาะต่ำ , มีความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งนี้ การตั้งครรภ์แฝด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งแบ่งเป็น

บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับคุณแม่

  • มีโอกาสแท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ ช่วงไตรมาสแรกมากกว่าครรภ์เดี่ยว
  • พบภาวะรกเกาะต่ำ เสี่ยงต่อการตกเลือดก่อนคลอดหรือหลังคลอด มากกว่าครรภ์เดี่ยว
  • เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ
  • มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
  • มีโอกาสคลอดธรรมชาติน้อยกว่าครรภ์เดี่ยว เพราะเด็กแฝดอาจไม่อยู่ในท่าที่เหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับลูก

  • ทารกมีโอกาสพิการแต่กำเนิด และเกิดความผิดปกติทางโครโมโซมมากกว่าครรภ์เดี่ยว ซึ่งการตรวจพบความพิการจากการอัลตราซาวนด์ ทำได้ยากกว่าปกติ
  • ความเสี่ยงจากภาวะแฝดที่ใช้รกร่วมกัน ตรวจวินิจฉัยได้ยากในไตรมาสแรก ยกเว้นรายที่มีภาวะถ่ายเลือดระหว่างกันอย่างรุนแรง (TTTS : Twin – Twin Transfusion Syndrome) ส่วนใหญ่จะเริ่มตรวจพบความเสี่ยงเมื่อเข้าไตรมาสที่ 2 เช่น ปริมาณน้ำคร่ำของทารกแต่ละถุงต่างกัน, การมองไม่เห็นกระเพาะปัสสาวะของทารกที่ถ่ายเลือดไปให้ทารกอีกคน, ทารกคนหนึ่งมีภาวะซีดและตัวเล็ก ในขณะที่อีกคนเริ่มมีหัวใจโตและลิ้นหัวใจรั่ว, ทารกเสียชีวิตจากภาวะซีดรุนแรงและอีกคนเสียชีวิตจากภาวะบวมน้ำหรือหัวใจวาย เป็นต้น
  • มีโอกาสเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ได้มากกว่าครรภ์เดี่ยว
  • ความเสี่ยงอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ทารกเสียชีวิตจากภาวะสายสะดือพันกัน กรณีตั้งครรภ์แบบทารกอยู่ในถุงน้ำคร่ำเดียวกัน

สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีครรภ์แฝด

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ ในช่วงแรกอาการอาจไม่แตกต่างจากครรภ์ปกติทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสงสัยคือ การแพ้ท้องมากกว่าปกติ และขนาดหน้าท้องโตผิดปกติหรือไม่ ทางที่ดีที่สุดแนะนำให้เข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ เพราะครรภ์ที่โตขึ้นนั้นอาจเป็นได้หลายอย่าง

1. ค่าต่าง ๆ ในเลือดสูง

คุณแม่ท้องลูกแฝดจะมีระดับฮอร์โมนในการตั้งครรภ์สูงมากกว่าคนอื่น อยู่ที่ระดับ 200 mlU โดยคุณหมอก็จะสันนิษฐานว่าคุณแม่อาจจะตั้งครรภ์ทารกแฝดก็เป็นได้ นอกจากนี้การตรวจหาสาร AFP ในคุณแม่ท้องแฝดก็จะพบว่ามีค่าสูงขึ้นกว่า 2 เท่าสำหรับการตั้งครรภ์ทั่วไปอีกด้วยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องควรรู้ ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? อัปเดตแพ็กเกจฝากครรภ์ ปี 2565

2. แพ้ท้องหนักมาก

ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็เกิดการแพ้ท้อง แต่สำหรับคุณแม่ท้องแฝดจะมีระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมากเป็นเท่าตัว ทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้องหนักกว่าปกติ เพราะทารกแฝดต้องการพลังงานและอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงปริมาณมาก

3. ท้องจะใหญ่กว่าคนท้องทั่วไป

เมื่อเริ่มท้องออกแล้ว จะรู้สึกว่าตัวเองท้องโตมากกว่าอายุครรภ์จริง เช่น หากอายุครรภ์จริง 4 เดือน แต่ขนาดครรภ์จะใหญ่จนเห็นหน้าท้องได้ชัดเจน ราวกับอายุครรภ์ 5-6 เดือนเลยทีเดียวค่ะ

ท้องแฝด



4. หัวใจคุณแม่เต้นเร็วกว่าปกติมาก

คุณแม่ท้องแฝด จะพบว่าตัวเองมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าปกติ ถ้าเทียบกับคนท้องเดี่ยว แต่ไม่มีอันตรายใด เพราะหัวใจจะทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อพัฒนาด้านการเจริญเติบโตของทารกแฝดค่ะ

5. ลูกในท้องดิ้นเร็วและดิ้นแรงมาก

สำหรับท้องแฝดนั้น จะสังเกตได้ว่าการดิ้นของทารกจะดิ้นเร็วและบ่อย เพราะในครรภ์มีทารกมากกว่า 1 คน เมื่อทารกขยับตัว ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกน้อยดิ้นแรงมากกว่าปกตินั่นเองค่ะ

อาหารและวิธีบำรุงครรภ์แฝด ที่คุณแม่ควรรู้

คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรจะต้องใส่ใจกับโภชนาการในแต่ละมื้อเป็นพิเศษ เพื่อให้สุขภาพของแม่และทารกแข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ที่ตั้งท้องแฝด ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้นไปอีก เพื่อให้อาหารและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกแฝดในครรภ์อย่างเพียงพอ โดยสามารถดูแลและบำรุงครรภ์แฝดได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดทุกชนิด พฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่แล้ว ยังส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ด้วย
  • จำกัดคาเฟอีน ชา กาแฟ ควรจะดื่มให้น้อยลง หรือไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน นอกจากชาและกาแฟแล้ว โกโก้ และช็อกโกแลตก็มีคาเฟอีนด้วยเช่นกัน คุณแม่ควรกินแต่น้อย
  • เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะโปรตีนจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโต ซึ่งแม่ครรภ์แฝดควรจะต้องได้รับโปรตีน 100 กรัมต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อแม่และทารกแฝด
  • เลือกอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะธาตุเหล็กจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและป้องกันโรคโลหิตจาง ซึ่งแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคโลหิตจางสูงกว่าปกติ แม่ควรจะได้รับธาตุเหล็ก 30 มิลลิกรัมต่อวันในช่วงไตรมาสแรก, 60 มิลลิกรัมต่อวันในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เพื่อให้เพียงพอต่อแม่และทารกแฝด
  • เมนูอาหารคนท้องแฝดควรหลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่จำเจ ช่วยให้สุขภาพของแม่แข็งแรง และทารกแฝดได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์
  • นม มีทั้งแคลเซียมและโปรตีน ดีต่อการสร้างมวลกระดูกของแม่และทารกแฝด การดื่มนมเป็นประจำก็จะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถเลือกดื่มได้ทั้งนมวัว นมถั่วเหลือง และนมจากพืชอื่น ๆ

หากมีอาการแบบนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดควรไปพบแพทย์

การตั้งครรภ์แฝด ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์มากกว่าปกติ และแพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์ รวมถึงอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพื่อหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์

หากมีอาการใดที่รู้สึกว่าน่าจะผิดปกติ ไม่ควรปล่อยไว้หรือคิดว่าคงเป็นเรื่องปกติ แต่ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะการตั้งครรภ์แฝดนั้นถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีแต่ความเสี่ยงในทุกย่างก้าว สัญญาณบางอย่างที่คิดว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติได้

ท้องแฝด



อย่างไรก็ตาม คุณแม่ครรภ์แฝดควรได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ซึ่งอาจมีการนัดอัลตราซาวนด์ถี่กว่าคุณแม่ทั่วไป โดยเฉพาะกรณีครรภ์แฝดที่ใช้รกร่วมกัน เพื่อได้รับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างเข้มงวด

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

คลอดลูกในน้ำ ดีอย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?

เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์ ต้องเตรียมตัวอย่างไร และควรรู้อะไรบ้าง!

ที่มา : 1, 2, 3