แม่ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด อย่ารอช้า เสี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ความกังวลมาเยือนเมื่อคุณแม่รู้สึกว่าตนเองมีอาการแปลก ๆ เช่น แม่ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด รู้สึกมีไข้ สงสัยว่าตนเองจะเป็นอะไรไหม อาการความผิ 

 1077 views

ความกังวลมาเยือนเมื่อคุณแม่รู้สึกว่าตนเองมีอาการแปลก ๆ เช่น แม่ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด รู้สึกมีไข้ สงสัยว่าตนเองจะเป็นอะไรไหม อาการความผิดปกติเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงต่อ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” ซึ่งส่งผลร้ายต่อตัวของคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัย ควรปรึกษาแพทย์ทันที

ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด สัญญาณของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

หนึ่งในความเสี่ยงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายอาจต้องเสี่ยงเจอ คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis หรือ Urinary Tract Infection) โดยมีอาการที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนหลายอาการร่วมกัน ได้แก่

  • ปัสสาวะผิดปกติ คือ ปัสสาวะบ่อย แต่ปัสสาวะน้อย รู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น, ปัสสาวะมีสีผิดปกติ เช่น มีเลือดปน หรือมีลักษณะขุ่น
  • จะรู้สึกระคายเคือง หรือแสบบริเวณอวัยวะเพศระหว่างการปัสสาวะ
  • ปวดท้องน้อย รู้สึกหน่วง ๆ กดแล้วจะทำให้เจ็บ
  • รู้สึกว่าตนเองท้องแข็ง หรือปวดท้องบ่อย ในช่วงที่ไม่ใช่ระยะวันกำหนดคลอด
  • มีอาการไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ประกอบกับมีอาการปวดเอว หรือปวดหลัง


หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ขนาดของครรภ์ใหญ่ขึ้น อย่ารอช้า ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจความผิดปกติของร่างกาย หากพบว่าเกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะได้วางแผนในการรักษาต่อไป

วิดีโอจาก : DrSeri

กระเพาะปัสสาวะอักเสบในคนท้องเกิดจากอะไร

ปัจจัยที่ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงมีหลายปัจจัย คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 ขึ้นไป หรือประมาณ 24 สัปดาห์ขึ้นไป จะมีขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น จากพัฒนาการของทารกในครรภ์ ขนาดของมดลูกนี้อาจใหญ่จนส่งผลให้เกิดการบีบท่อไต ทำให้ระบบปัสสาวะทำงานได้น้อยลงกว่าปกติ ส่งผลให้ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด เกิดการปัสสาวะน้อยลงจนคุณแม่กังวลนั่นเอง นอกจากนี้ยังเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • แม่ท้องที่มีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินปัสสาวะด้วย จากการที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ออกมาในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้มัดกล้ามเนื้อของท่อไตคลายตัว
  • มีแม่ท้องไม่น้อย ที่มักจะมีกระเพาะปัสสาวะหย่อน จึงทำให้ปัสสาวะได้ไม่ค่อยสุด และอาจมีปัสสาวะไหลย้อนกลับเข้าท่อไต และไต ส่งผลให้เชื้อโรคแบคทีเรียเกิดการตกค้างอยู่บริเวณกระเพาะปัสสาวะ และอาจเข้าสู่ไต เสี่ยงต่อการติดเชื้อในไตได้ง่าย
  • น้ำปัสสาวะในช่วงของการตั้งครรภ์มีความเป็นกรดน้อย และเต็มไปด้วยกลูโคส ซึ่งสารเหล่านี้ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี จึงส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ และมีโอกาสเกิดการอักเสบตามมาได้


คนท้องเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบอันตรายแค่ไหน ?

โดยส่วนมากหากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นภาวะร้ายนี้ ถึงแม้จะมีอาการหลายอย่างที่สามารถสังเกตได้ และเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน แต่ในช่วงตั้งครรภ์นั้น ร่างกายของคุณแม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจมีอาการบางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกับภาวะนี้จนยากที่จะแยก หรือสังเกตได้ว่าตนเองแข็งแรงปกติดีหรือไม่ เช่น อาการปวดตามหลัง ตามหน้าท้อง เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติด้วย จนอาจส่งผลเสียต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น ทารกมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์, คลอดก่อนกำหนด หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

เมื่อการสังเกตอาการอาจทำให้เกิดความสับสน แนะนำให้คุณแม่คอยดูอาการไข้ร่วมด้วย นอกจากนี้หากพบอาการผิดปกติอื่น ๆ หรือมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ หากเข้ารับการฝากครรภ์อยู่แล้ว คุณแม่สามารถปรึกษากับแพทย์ หรือบอกเล่าอาการเพื่อรับการตรวจหาความผิดปกติเพิ่มเติมได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการท้อง 9 เดือน ที่สำคัญมีอะไรบ้าง ? และการฝึกหายใจเตรียมคลอด

ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด


คนท้องป้องกันตนเองอย่างไรให้ห่างไกลกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • พยายามดื่มน้ำสะอาดให้พอดีกับความต้องการของร่างกายประมาณ 6 – 8 แก้ว / วัน
  • เพิ่มการทานอาหารที่มีสารอาหารจำพวกวิตามินซี เบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) และสังกะสี เพราะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดี
  • เลี่ยงการทานอาหารจำพวกอาหารแปรรูป, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
  • หากปวดปัสสาวะไม่ควรกลั้น ควรปัสสาวะตามปกติ พยายามปัสสาวะให้สุดมากที่สุดในแต่ละครั้ง
  • ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดหลังจากปัสสาวะ หรือถ่ายอุจจาระเสร็จแล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • เลี่ยงสบู่ที่มีความเป็นกรดด่างสูง หรือน้ำยาทำความสะอาด และแป้งบริเวณอวัยวะเพศ
  • ทำความสะอาด / เปลี่ยนกางเกงในตลอด ควรเลือกที่ทำจากฝ้ายเพื่อลดการระคายเคือง
  • ห้ามใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปร่าง เพราะอาจส่งผลต่อการบีบตัวของระบบปัสสาวะได้
  • ไม่ควรนอนแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำนานเกินไป ไม่ควรเกิน 30 นาที หรือมากกว่าวันละ 2 ครั้ง


ภาวะนี้สามารถรักษาได้ไหม ?

เมื่อคุณแม่เข้ารับการตรวจ โดยปกติแล้วแพทย์จะขอเก็บตัวอย่างของปัสสาวะเพื่อนำไปวินิจฉัย หากพบว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบจริง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีเป้าหมาย คือ การฆ่าเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ การรักษาวิธีนี้ถือว่าได้ผลดี และมีความปลอดภัยต่อตัวของคุณแม่ และทารกในครรภ์ด้วย ดังนั้นหน้าที่หลักของคุณแม่และคนรอบตัว คือ การเฝ้าสังเกตอาการ และปรึกษาแพทย์เป็นประจำ

อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น แม่ท้อง 9 เดือนปัสสาวะไม่สุด อาจเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่หากคุณแม่รู้สึกสงสัย หรือพบความผิดปกติ ไม่ควรรักษา หรือทานยาด้วยตนเอง แต่ควรเข้ารับการตรวจ และรับยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม ต้องระวังมากแค่ไหน ?

คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?

คลอดลูกในน้ำ ดีอย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม ?

ที่มา : 1, 2, 3