หูดหงอนไก่ (Anogenital Wart) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เรื่องใหญ่สำหรับชีวิตคู่

เมื่อพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หนึ่งในโรคที่มักพบการติดเชื้อบ่อย แต่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นก็คือโรค หูดหงอนไก่ (Anogenital Wart) หนึ่งในโรคติดต่ 

 928 views

เมื่อพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หนึ่งในโรคที่มักพบการติดเชื้อบ่อย แต่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นก็คือโรค หูดหงอนไก่ (Anogenital Wart) หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มาจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (HPV) ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นค่ะ เพราะโรคหูดหงอนไก่นี้ สามารถพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อีกทั้งเมื่อติดเชื้อแล้ว ยังสามารถติดซ้ำได้อีกด้วย หากพร้อมแล้วเราไปดูสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ !

หูดหงอนไก่ คืออะไร ?

หูดหงอนไก่ Anogenital Wart หรือ CONDYLOMA ACUMINATUM เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus : HPV) โดยเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ก่อนที่โรคนี้จะไปสร้างรอยโรคในลักษณะก้อนหูด ที่มีขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่ บริเวณผิวหนังที่ได้รับเชื้อ

โดยปกติแล้วโรคนี้สามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 16-25 ปี โดยเชื้อชนิดนี้ มักเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่อับชื้น เช่น บริเวณอวัยวะเพศ จึงเป็นสาเหตุที่มักพบรอยโรคนี้บริเวณดังกล่าว

ซึ่งไวรัส HPV เป็นเชื้อที่มีหลายสายพันธุ์ แบ่งเป็นชนิดความเสี่ยงสูงซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก และชนิดความเสี่ยงต่ำซึ่งไม่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง แต่โรคหูดหงอนไก่นี้ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก แต่ถ้าหากเป็นเชื้อความเสี่ยงสูงก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน

หูดหงอนไก่



สาเหตุของโรค หูดหงอนไก่

อย่างที่บอกว่าโรคนี้ มีสาเหตุการเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ที่โดยส่วนมาก มักได้รับเชื้อที่ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเป็นเชื้อที่สามารถรับได้จากการสัมผัส เยื่อบุผิวหนังของคนที่เป็นพาหะนำเชื้อเท่านั้น แล้วเชื้อไวรัสจะแทรกซึมเข้าร่างกาย ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กันแม้ว่าไม่ได้มีการสอดใส่

ซึ่งตำแหน่งของร่างกายที่สามารถรับเชื้อ จนกลายเป็นโรคหูดหงอนไก่ในที่สุด ได้แก่ บริเวณเยื่อบุผิวที่ตำแหน่งอวัยวะเพศ เช่น ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อหุ้มปลายองคชาต

ในขณะเดียวกันเด็กทารกที่แม่เป็นพาหะเชื้อ ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากมีการสัมผัสเชื้อระหว่างการคลอด แต่การใช้สิ่งของสาธารณะร่วมกัน เช่น ฝารองนั่ง การว่ายน้ำ ก็ไม่ทำให้ติดเชื้อนี้ได้

อาการของผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่

โรคหูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มีทั้งอาการชัดเจน และอาการที่ไม่แสดงออกใด ๆ รวมไปถึงอาการที่กระทบกับชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องเสียความมั่นใจได้เลยค่ะ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ดังนี้

  • รู้สึกคันหรือแสบร้อน บริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
  • เจ็บอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ



ตำแหน่งหูดหงอนไก่ที่พบได้

  1. ในผู้หญิง : อาจพบหูดได้ที่ปากช่องคลอด พนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก หูดอาจมีได้ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก หูดอาจอุดตันช่องคลอด บางรายหูดอาจใหญ่ขึ้นเมื่อตั้งครรภ์
  2. ในผู้ชาย : อาจพบก้อนเนื้อหรือหูด ตรงตำแหน่งเยื่อหุ้มปลายองคชาต เส้นสองสลึง รูเปิดท่อปัสสาวะ หรือทวารหนัก
  3. ในทารก : อาจเกิดโรคที่หลอดเสียง เนื่องจากการคลอดปกติผ่านทางช่องคลอด ของแม่ท้องที่มีโรคหูดหงอนไก่



ลักษณะของหูดหงอนไก่

เชื้อของหูดหงอนไก่ มีระยะในการฟักตัวราว 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 8 เดือน โดยจะมีเนื้องอกนูนออกมาจนควบคุมไม่ได้ เป็นติ่งเนื้อสีชมพูขาว ผิวขรุขระคล้ายหงอนไก่ บริเวณที่พบส่วนมากจะเป็นบริเวณปากช่องคลอด รองลงมาคือที่แคมคลิตอริส รอบทวารหนัก ผนังช่องคลอด และปากมดลูก ซึ่งหูดสามารถขยายจำนวนได้ หากได้รับการกระตุ้นจากความร้อน และความชื้น

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อหูดหงอนไก่

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่มีรสนิยมแบบรักร่วมเพศ
  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • มีเพศสัมพันธ์ไม่สะอาด ไม่ว่าจะสอดใส่หรือไม่สอดใส่
  • ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ หรือมีโรคประจำตัวที่กดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด นับความเสี่ยงตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ



นอกเหนือจากนี้ผู้หญิงเป็นส่วนมาก สามารถพบการติดเชื้อหูดหงอนไก่ได้มากกว่าเพศชาย โดยส่วนใหญ่มักพบเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป หรือบางรายอาจจะพบตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่โดยส่วนมากผู้หญิงมักตรวจเจอรอยโรคที่ชัดเจนกว่า ทำให้ผู้ชายที่ติดเชื้อไม่ทันรู้ตัวว่าเป็นโรค และแพ้เชื้อต่อให้โดยไม่สวมถุงยางอนามัยระหว่างการร่วมเพศ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ช็อกโกแลตซีสต์ โรคที่ผู้หญิงทุกคนเสี่ยง แต่ถ้ายิ่งปวดหนักยิ่งอันตราย

โรคหูดหงอนไก่เป็นซ้ำได้ไหม ?

หูดหงอนไก่ นับเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สามารถมีโอกาสเกิดซ้ำได้ถึง 30-70% หลังจากการรักษาเสร็จแล้ว 6 เดือน ซึ่งอาจมีได้ทั้งจากยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ, เกิดจากรอยโรคในร่างกายและการติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

วิธีการรักษา

ผู้ป่วยโรคนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี แต่การรักษาส่วนใหญ่มักใช้วิธีทายา ที่ตัวยาช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อให้หูดหยุดการเจริญเติบโต และเสื่อมตัวจนหลุดออกไป โดยยานี้มีทั้งยาที่แพทย์ต้องทาให้ และยาที่สามารถเอากลับไปทาเองที่บ้านได้

อีกวิธีการรักษาก็คือการจี้ออก สามารถรักษาได้ทั้งการใช้จี้ไฟฟ้า จี้ด้วยบา หรือผ่าตัดออก ซึ่งทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าควรรักษาด้วยวิธีใด เมื่อมีอาการต้องสงสัย ไม่ควรซื้อยามารักษาเอง แต่ควรไปหาหมอเพื่อรักการจ่ายยาโดยตรงเท่านั้น เพื่อให้การรักษาเห็นผล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

อย่างที่บอกว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก แม้ว่าจะรักษาให้แล้ว แต่ก็สามารถเกิดซ้ำได้หากมีปัจจัยอื่นเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการที่เชื้อไวรัสคงค้างในร่างกาย หรือภูมิคุ้มกันลดลงจนติดซ้ำ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เป็นพาหะอีกก็ตาม แต่ถ้าเพื่อการรักษาที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ เมื่อทำการรักษาผู้ป่วยจึงควรงด

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารหรือเนื้อสัตว์แปรรูปทุกชนิด เช่น แหนม ลูกชิ้น หมูยอ กุนเชียง
  • อาหารหมักดอง
  • เนื้อสัตว์ดิบ อาหารดิบ หรืออาหารที่ยังไม่ได้ผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อมาก่อน
  • ควรงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด



เนื่องจากทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันตก จนเป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้ติดเชื้อซ้ำได้ค่ะ

หูดหงอนไก่



วิธีป้องกันการติดเชื้อหูดหงอนไก่

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หูดหงอนไก่ได้อย่าง 100% แต่ว่าสามารถลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ดังนี้

  1. ไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีคู่นอนแค่คนเดียว
  2. ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์
  3. สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  4. ทำความสะอาดทุกครั้ง หลังการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ปล่อยทิ้งไว้
  5. เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่มีคู่นอนหลายคน
  6. ขลิบอวัยวะเพศ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ และการแพร่ต่อ
  7. ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเป็นประจำ



ต้องบอกก่อนว่า การติดเชื้อหูดหงอนไก่ บางรายอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เอง แต่ในผู้ที่ภูมิตกอาจจะมีอาการชัดจนต้องไปรักษา แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอาการน้อยหรือมากก็อาจจะถ่ายทอดเชื้อได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการ และไปหาหมอเมื่อมีอาการต้องสงสัย จะช่วยอัตราความเสี่ยงและการส่งต่อโรคได้ค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

หนองในแท้ (Gonorrhea) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดได้ทั้งชายและหญิง !

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) รู้และเข้าใจ โรคภายในของผู้หญิง

ที่มา : 1, 2