โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน และถือเป็นโรคที่ใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด มะเร็งลำไส้ ก็มีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ ดังนั้น บทความวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเกี่ยวกับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้มากยิ่งขึ้น ว่าจะมีอาการอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคนี้ และจะวิธีรักษาโรคนี้ได้อย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วมาตามดูพร้อมกันเลยค่ะ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากสาเหตุอะไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่ จนกลายเป็นเนื้องอก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรืออาหารหมักดองหรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไส้ หรือมะเร็งชนิดต่าง ๆ , ขาดการออกกำลังกาย หรือจะเป็นจากการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ซึ่งการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นจะพบได้ในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ซึ่งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถ้าหากเกิดขึ้นในระยะแรกก็อาจจะยังไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นได้ชัด แต่ถ้าหากมะเร็งเริ่มลุกลามก็จะมีอาการแสดงออกจนทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ
ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่
การลุกลามของมะเร็งลำไส้ใหญ่จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
มะเร็งระยะที่ 1 สำหรับระยะนี้จะยังไม่มีการลุกลาม ซึ่งการลุกลามของมะเร็งนั้นจะลุกลามไปเพียงแค่บริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ และยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
มะเร็งระยะที่ 2 ในส่วนของระยะนี้จะเป็นระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลามเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และลามไปถึงเยื่อหุ้มลำไส้ และเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ
มะเร็งระยะที่ 3 ระยะนี้เริ่มที่จะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ดังนั้น จึงจะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้ได้มากที่สุด และรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด
มะเร็งระยะที่ 4 เป็นระยะรุนแรง เพราะมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งการรักษาอาจจะต้องมีการทำเคมีบำบัด และผ่าตัดก้อนมะเร็งออก
บทความที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
อาการของ มะเร็งลำไส้ใหญ่
- อาจจะมีการขับถ่ายผิดปกติ เช่น อาการท้องผูก และอาจจะมีอาการเลือดออกทางทวาร หรือขับถ่ายอุจจาระปนเลือด
- อาจจะมีอาการปวดท้อง ซึ่งอาการปวดจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน และตำแหน่งที่พบมะเร็ง
- มีน้ำหนักลด โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการอ่อนเพลีย
- อาจจะมีอาการโลหิตจาง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับการวินิจฉัยโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นจะเริ่มทำการสอบถามประวัติของตัวผู้ป่วย จากนั้นก็จะมีการตรวจร่างกายในเบื้องต้น เช่น การตรวจทางทวารหนัก หรือตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ และการถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก และถ้าหากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติ ในขั้นตอนต่อไปก็อาจจะทำการตรวจโดยใช้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่สามารถตรวจได้แม่นยำที่สุด และสามารถตัดติ่งเนื้อชิ้นส่วนนั้นออกไปได้ นอกจากนี้ หลังจากการตรวจก็ควรจะต้องมีการประเมิน และสรุปผลการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว
วิธีการรักษาโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่
การผ่าตัด
สำหรับการผ่าตัดจะเป็นการตัดเอาลำไส้ใหญ่ที่เป็นมะเร็งออก พร้อมกับตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง และเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งกระจายออกให้ได้มากที่สุด และถ้าหากใครที่เป็นมะเร็งในระยะแรกก็สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลาม
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
สำหรับการบำบัดด้วยยาเคมี ตัวยาเคมีบำบัดจะออกฤทธิ์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง หรือหยุดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งไม่ให้กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการบำบัดด้วยยาเคมีจะมีทั้งแบบฉีดเข้าเส้นเลือด และแบบรับประทาน หรือแบบเม็ดนั่นเอง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องดูจากระยะของโรคมะเร็งลำไส้เป็นหลัก เช่น ถ้าหากป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ในระยะที่ 2 ซึ่งถือเป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูง ก็สามารถรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบเม็ดได้ แต่หากเป็นป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 3 หรือระยะ 4 ก็อาจจะต้องใช้ยาเคมีบำบัด 2 ชนิดร่วมกัน ซึ่งวิธีการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร หรือผมร่วง เป็นต้น
รักษาด้วยการฉายรังสี (Radiation therapy)
ซึ่งวิธีการฉายรังสีนี้จะเป็นการใช้คลื่นที่มีพลังงานสูง ที่สามารถทะลุผ่านสิ่งต่าง ๆ มาใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังคงหลงเหลืออยู่
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคร้ายที่ต้องกังวล หากเครียดหนัก
วิธีป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่
ในส่วนของวิธีการป้องกันที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ คือควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไหม้เกรียมเพราะมีสารก่อมะเร็ง แล้วก็ควรเน้นมารับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพราะไฟเบอร์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ได้แก่ ธัญพืช, ผักตระกูลกะหล่ำ หรือผักโขม เป็นต้น แล้วก็ได้มีการศึกษาพบว่าแมกนีเซียม กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ นั้นมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งถ้าหากรับประทานแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น 100 มิลลิกรัมต่อวัน ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากนี้ ก็จะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แล้วก็ควรทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ เพื่อที่จะได้ตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ เพราะถ้าหากเจอติ่งเนื้อในลำไส้จะได้ทำการตัดออกได้ทัน เพื่อป้องกันการพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่เรานำมาฝากกัน ซึ่งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นภัยเงียบที่จะต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากถ้าหากใครที่เริ่มเป็นระยะแรกก็จะยังไม่มีการแสดงอาการอะไร ดังนั้น อย่าลืมไปตรวจสุขภาพคัดกรองมะเร็งเป็นระยะ ๆ ด้วยนะคะ หรือถ้าหากใครที่เริ่มรู้สึกว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ ควรที่จะรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อตรวจอาการ และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้สำหรับทุกคนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รู้ทัน! สาเหตุ อาการ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อันตรายมากแค่ไหน?
ช็อกโกแลตซีสต์ โรคที่ผู้หญิงทุกคนเสี่ยง แต่ถ้ายิ่งปวดหนักยิ่งอันตราย
เตือน! โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากอะไร? โรคที่ใคร ๆ ไม่ควรมองข้าม