ภาวะมีบุตรยาก คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่ คำตอบอยู่ที่นี่ !

เรียกได้ว่าเมื่อพูดถึง ภาวะมีบุตรยาก นับเป็นหนึ่งในปัญหาหลัก ที่ทำให้หลายคู่รักรู้สึกหนักใจ เพราะไม่ว่าจะพยายามมากเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ซึ่ง 

 700 views

เรียกได้ว่าเมื่อพูดถึง ภาวะมีบุตรยาก นับเป็นหนึ่งในปัญหาหลัก ที่ทำให้หลายคู่รักรู้สึกหนักใจ เพราะไม่ว่าจะพยายามมากเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ซึ่งการเกิดอาการแบบนี้ มักมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำความเข้าใจภาวะดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาวะมีบุตรยากที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเพราะคุณผู้ชาย หรือคุณผู้หญิง ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน ดังนั้นการทำความเข้าใจ เพื่อรู้และเข้ารับคำปรึกษา จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมเป็นตัวเลิกที่ช่วยให้คู่รัก มีโอกาสในการตั้งครรภ์สำเร็จในอนาคตค่ะ !

ภาวะมีบุตรยาก



ภาวะผู้มีบุตรยาก คืออะไร

“ภาวะมีบุตรยาก” หมายถึง ภาวะที่คู่สมรส ไม่สามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิด ซึ่งภาวะนี้จะนับว่าเป็นการตั้งครรภ์ยากก็ต่อเมื่อ อายุไม่เกิน 35 ปี และไม่คุมกำเนิดเท่านั้น แต่ถ้าอายุเข้า 35 ปีเมื่อไร จะถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะมีบุตรยากทันที หามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน แล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยพบว่าอย่างน้อย 10-15 % ของคู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์

ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายชาย หรือฝ่ายหญิง หรือเกิดจากทั้งสองฝ่าย โดยภาวะการมีบุตรยากนี้ ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่มีอาการแท้งบุตรตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดภาวะแท้งซ้ำซ้อน รวมถึงผู้ชายที่มีภาวะเป็นหมันด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการมีบุตรจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุทั้งสองฝ่าย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

สาเหตุของการมีบุตรยาก พบว่าเกิดจาก

  • ฝ่ายหญิงประมาณ 40 % เช่น อายุมากภาวะไข่ไม่ตก ท่อนำไข่ตัน เนื้องอกมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ฝ่ายชายประมาณ 25 % เช่น อสุจิน้อย ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว เป็นต้น
  • ทั้ง 2 ฝ่าย 20% และไม่ทราบสาเหตุประมาณ 15 %



ปัญหาที่ก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

1. ปัญหาที่เกิดจากฝ่ายชาย

เกิดจากไลฟ์สไตล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ติดสารเสพติด พักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาที่เกิดจากอายุและปัญหาทางสุขภาพ เช่น อายุมากขึ้นและอาจมีความผิดปกติของฮอร์โมน จนอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการหลั่งน้ำอสุจิ โดยไม่มีตัวอสุจิหรืออสุจิน้อยลงจนไม่มี เชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติ จำนวนสเปิร์มน้อย การเคลื่อนไหวแหวกว่ายผิดปกติ หรือบางรายอาจจะเป็นท่อนำเชื้อหรือท่อปัสสาวะตีบตัน หรือ เป็นหมัน

ภาวะมีบุตรยาก



2. ปัญหาที่เกิดจากฝ่ายหญิง

สาเหตุจากฝ่ายหญิงพบได้ประมาณร้อยละ 40-50 การทำงานของระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อ ความผิดปกติของระบบฮอร์โมน ทำให้ไม่มีการตกไข่ ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี พบท่อรังไข่อุดตัน หรือเนื้องอกในมดลูก เยื่อผนังมดลูกเจริญผิดที่

และอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากไลฟ์สไตล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ติดสารเสพติด เกิดจากความอ้วน มีความเครียด รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากอายุ และปัญหาทางสุขภาพ เช่น เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน อายุที่มากขึ้น เป็นต้น

3. ปัญหาที่เกิดจากทั้งสองฝ่าย

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก จึงควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาสาเหตุทั้งสองฝ่าย โดยแพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ หากเป็นฝ่ายชายส่วนมากจะซักประวัติส่วนตัว และตรวจเชื้ออสุจิ เพราะฉะนั้นจึงควรงดการหลั่ง ประมาณ 2-7 วันก่อนมาพบแพทย์ ส่วนการหาสาเหตุในฝ่ายหญิง จะซักประวัติส่วนตัว และทำการตรวจภายใน ตรวจระดับฮอร์โมนเพศ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ต่อไป

4. ปัญหาที่หาสาเหตุไม่พบ

ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ หมายถึงคู่สามีภรรยาที่มีลูกยากนั้น ได้ทดสอบทุกวิธีกระบวนการหาสาเหตุเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่พบความผิดปกติทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสาเหตุจริง ๆ โดยสามารถใช้เครื่องมือทดสอบที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสค้นหาสาเหตุได้ ซึ่งในปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีแขนงนี้ก้าวหน้าไปไกลมาก

วิธีตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก

มีข้อมูลระบุว่าอย่างน้อย 25% ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก มักจะมีมากกว่าหนึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่แพทย์จะตรวจประเมินปัจจัยทั้งหมด เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยแพทย์จะซักถามเกี่ยวกับ

  • ความถี่และความสม่ำเสมอของรอบประจำเดือน
  • อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน
  • ประวัติเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ประวัติการตั้งครรภ์และการแท้งบุตรก่อนหน้านี้
  • วิธีการคุมกำเนิดที่ผ่านมา
  • ฝ่ายชายหากมีประวัติเกี่ยวกับการบาดเจ็บ หรือการผ่าตัดที่อวัยวะเพศ หรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส ก็อาจจะทำให้มีปัญหาเชื้ออสุจิผิดปกติได้
  • ข้อมูลเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เช่น ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ใน 1 สัปดาห์ ความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ความยากลำบากในการมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ ล้วนมีความสำคัญ เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ขัดขวาง ทำให้การตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติเป็นไปได้ยากขึ้น



ภาวะมีบุตรยาก



นอกจากการพูดคุยซักประวัติ และวางแผนการตรวจหาสาเหตุแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม สำหรับการตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดีในอนาคต ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การรับประทานวิตามินเพื่อเตรียมความพร้อม การหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ สารเสพติด ยาที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในระหว่างตั้งครรภ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น

แนวทางการรักษา

ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไกลไปมาก และมีวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากมากมาย ขึ้นอยู่กับอายุ ปัญหา สาเหตุของผู้มีบุตรยาก ซึ่งแพทย์จะร่วมกับคนไข้ในการค้นหาวิธีรักษา เช่น การรับประทานยาหรือฉีดกระตุ้นเพื่อให้มีการตกไข่ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF, ICSI) ในบางรายอาจจะต้องมีการผ่าตัด เช่น ซีสต์ เนื้องอก เลาะพังผืด แก้ไขท่อนำไข่ตัน หรือแม้แต่การผ่าตัดแก้หมัน เป็นต้น

ต้องบอกเลยค่ะว่าภาวะมีบุตรยากนั้น ยังมีคู่สมรสอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือประมาณ 15-20% ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นจากแพทย์แล้ว และไม่พบความผิดปกติใด ซึ่งจัดเป็นผู้มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นจึงควรรีบดำเนินการพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุแบบเจาะลึกต่อไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!

แม่ท้องกับภาวะ เชื้อราในช่องคลอด อันตรายหรือไม่ ส่งผลต่อทารกอย่างไร

ไส้เลื่อน โรคร้ายที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม อาการ และการรักษา

ที่มา : 1, 2