มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบเร็วรักษาหายได้ อย่าปล่อยให้สายเกินแก้ !

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็ง อีกหนึ่งโรคร้ายที่สามารถพบได้บ่อยในประเทศไทย นั่นก็คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เ 

 581 views

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็ง อีกหนึ่งโรคร้ายที่สามารถพบได้บ่อยในประเทศไทย นั่นก็คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ไม่มีอาการที่แน่ชัด แถมอาการบางอย่างยังคล้ายกับโรคอื่น ทำให้ยากต่อการสังเกตตัวเอง และกว่าจะรู้ตัวและตรวจพบ ก็อาจเป็นอาการที่หนัก หรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น



วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกบโรคนี้ให้เพิ่มขึ้น และขอแนะนำว่าหากมีอาการคล้าย หรือต้องสงสัยว่าเสี่ยง ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา เพราะหากพบได้ไว สามารถรักษาให้หายได้ หากพร้อมแล้ว ไปอ่านบทความดี ๆ ด้านล่างได้เลยค่ะ !




มะเร็งต่อมลูกหมาก



มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากอะไร?

มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ จนกลายเป็นก้อนมะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหายและถูกทำลายในที่สุด โดยโรคนี้ถูกจัดให้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในผู้ชายไทย และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ด้วยอาการของโรคที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน หรือหากมีอาการ ก็จะมีลักษณะคล้ายกับอาการต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ทำให้ยากในการตรวจพบ หรือในการรู้ตัว ซ้ำร้ายเซลล์ที่โตและเบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จะแทรกหรือเคลื่อนย้ายไปสู่อวัยวะอื่นข้างเคียง หรือแม้กระทั่งอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น ไต ตับ ปอด หรือกระดูก ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหาย และถูกทำลายไปในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงระยะนั้นแล้วผู้ป่วยก็จะถึงแก่ชีวิตได้



ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัด ของการเกิดโรคดังกล่าว ตามสถิติพบว่า มะเร็งต่อมลูกหมาก มักเกิดกับชายที่อายุ 50-60 ปีขึ้นไป และพบมากในชายผิวขาวชาวตะวันตก จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นการเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ และพฤติกรรมการกิน ที่สำคัญหากในครอบครัวมีประวัติโรคนี้ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะพบโรค มากกว่าในกลุ่มคนทั่วไป



ความสำคัญของต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมาก หรือ Prostate gland เป็นหนึ่งในต่อมไร้ท่อของเพศชาย มีหน้าที่สร้างน้ำเมือกในการมีเพศสัมพันธ์ ช่วยหล่อเลี้ยงอสุจิ และช่วยปกป้องสารพันธุกรรม หรือ DNA ของอสุจิ โดยต่อมลูกหมากจะโตขึ้นตามช่วงอายุ และโตมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งจะพบว่าต่อมลูกหมากที่โตขึ้น จะเริ่มอุดตันหลอดปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะลำบาก และการอุดตันทำให้ปัสสาวะคั่งค้างมากกว่าปกติ

บทความที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งอัณฑะ พบได้ไม่บ่อย แต่ถ้าพบแล้ว เป็นปัญหาหนักใจคุณผู้ชาย !



อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการแปรปรวนของระบบทางเดินกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน มีอาการแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง หากปล่อยทิ้งไว้จะปัสสาวะลำบาก จนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือดได้




มะเร็งต่อมลูกหมาก



สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

หากในเบื้องต้น ยังสามารถปัสสาวะได้ปกติ ยังไม่มีอาการอื่น อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นโรคอื่นก็เป็นได้ แต่ถ้าเมื่อสำรวจตัวเองแล้ว พบว่ามีอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาการหนึ่ง หรือมากกว่านั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียด เพราะยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสในการรักษาให้หาย ได้แก่

  • ปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่หมด
  • รู้สึกปวดเวลาปัสสาวะ หรือปวดเวลาที่หลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอด
  • อวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัว
  • มีเลือดปนในน้ำเชื้อ หรือปัสสาวะ



ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้น : เป็นระยะเริ่มต้น พบมะเร็งเฉพาะในต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะที่ 2 ระยะไม่ลุกลามหรือแพร่กระจาย : ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย โดยพบทั้งสองกลีบของต่อมลูกหมาก ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะที่ 3 ระยะลุกลามอวัยวะข้างเคียง : เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายออกมาที่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมาก และอาจลุกลามเข้าท่อน้ำเชื้อด้านข้าง
  • ระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจาย : เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก และต่อมน้ำเหลือง หรือกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป



โดยเป็นการกำหนดระยะของมะเร็งจากตำแหน่งของเซลล์ การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ระยะของมะเร็งมีความสำคัญต่อการรักษา เพราะจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลต่อการหายของโรค การมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น




มะเร็งต่อมลูกหมาก



กลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจหาโรค

  1. ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  2. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  3. ชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์
  4. ควรตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง



วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

1. การคลำต่อมลูกหมาก

แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อตรวจหาก้อนมะเร็ง โดยการคลำเพื่อตรวจสอบขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก



2. การตรวจเลือดหาค่า PSA

การตรวจเลือดหาค่าสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด หรือ Prostatic Specific Antigen เป็นการตรวจด้วยเลือด เป็นการหาสารอื่นที่ปะปนอยู่ในเลือด ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก



3. การตรวจ MRI/Ultrasound Fusion Biopsy

เทคโนโลยีภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสามมิติแบบ Real time ใช้ในการบ่งชี้ความผิดปกติ และแนวโน้มจะเป็นมะเร็ง ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียด และตำแหน่งก้อนในต่อมลูกหมากชัดเจน สามารถกำหนดบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อได้แม่นยำ



4. การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy)

โดยแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่



สิ่งสำคัญของมะเร็งต่อมลูกหมาก คือการได้รับการตรวจและรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ เพราะก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็ก และอยู่เฉพาะในต่อมลูกหมาก ยังไม่ลุกลามกระจายตัวไปสู่อวัยวะอื่นของโรค หากตรวจพบได้เร็วและแพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้องแม่นยำ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่าปล่อยให้โรคร้าย มาทำลายชีวิตที่มีความสุข หากไม่แน่ใจหรือสงสัยในความผิดปกติ ควรพบแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดทันที !



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อันดับต้น ๆ ของหญิงไทย

ลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคร้ายที่ต้องกังวล หากเครียดหนัก

ที่มา : 1, 2