ภาวะแท้งคุกคาม ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายที่เกิดได้ในไตรมาสแรก

เมื่อพูดถึงอันตรายของ ภาวะแท้งคุกคาม เมื่อฟังแค่ชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อมูล เป็นปกติที่จะคิดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ที่แสนจะอ 

 784 views

เมื่อพูดถึงอันตรายของ ภาวะแท้งคุกคาม เมื่อฟังแค่ชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อมูล เป็นปกติที่จะคิดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ที่แสนจะอันตรายทั้งแม่และลูก ถึงแม้จะมีความอันตรายจริง แต่สามารถเป็นหนึ่งในเรื่องที่ดีขึ้นได้ หากคุณแม่สังเกตตัวเอง และมารับการรักษาได้ทันเวลา

วันนี้ Mamastory จะพาคุณพ่อคุณแม่ ไปทำความรู้จักกับ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ที่มีชื่อเรียกว่า ภาวะแท้งคุกคามให้มากขึ้น จะได้สังเกตและเตรียมพร้อมรับมือได้ทัน อันตรายที่สามารถเกิดกับแม่ท้องได้ ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ถ้าหากพร้อมแล้ว ไปดูกันได้เลยค่ะ !

ภาวะแท้งคุกคาม



ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร ?

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) คือ ภาวะผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ด้วยการมีเลือดออกในช่องคลอด ที่เกิดในช่วง 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยเป็นภาวะเสี่ยงที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรก โดยหญิงตั้งครรภ์จะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นเลือดสดหรือมูกเลือด ในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย

ซึ่งภาวะแท้งคุกคาม อาจเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนที่ปกติได้เช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดกับแม่ที่ไม่รู้ตัวว่าท้อง อาจทำให้ตัวเองไม่ได้ระวังตัว และดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่

ภาวะแท้งคุกคามเป็นหนึ่งในภาวะเสี่ยง ที่อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด แต่ก็มีคุณแม่หลายคน ที่เกิดภาวะนี้กับตนเอง และสามารถดูแลตัวเองได้ดี จนอายุครรภ์ครบกำหนดคลอด ด้วยการดูแลของแพทย์ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ ด้วยการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และหมั่นพบแพทย์ตามกำหนด

บทความที่เกี่ยวข้อง : ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!

อาการของภาวะแท้งคุกคาม

โดยส่วนใหญ่แล้ว แม่ตั้งครรภ์จะมีเลือดออกเป็นปกติ แต่ถ้าหากมีปริมาณมาก และมีอาการปวดท้องร่วมกับการปวดหลัง หรือเป็นตะคริว อาจจะตั้งข้อสงสัยก่อนได้ว่า ภาวะแท้งคุกคามแม่ท้อง ในบางรายอาจจะมีอาการคล้ายกับปวดประจำเดือน แต่โดยส่วนใหญ่จะเสี่ยงมากขึ้น หากมีอาการปวดหน่วง ๆ รวมกับเลือดไหลมาก โดยสามารถพบอาการส่วนใหญ่ได้ดังนี้

  • เลือดสดหรือมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด ปริมาณมากน้อยต่างกัน จะเป็นสีน้ำตาลหรือเลือดสีแดงก็ได้
  • เลือดออกกะปริบกะปรอย หลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์
  • ปวดท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือน
  • ปวดร้าวไปหลัง ร่วมกับตะคริว



ภาวะแท้งคุกคาม



สาเหตุของการแท้งคุกคาม

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ว่าเหตุใดที่เป็นต้นเรื่องของภาวะแท้งคุกคาม แต่พบว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยง ที่จะทำให้แม่ท้องมีเลือดออก ระหว่างการตั้งครรภ์ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตราย ได้แก่

  1. คุณแม่ท้องอายุมาก ส่วนใหญ่แล้ว มักพบอาการแท้งคุกคามในกลุ่มอายุเกิน 35 ปี จะมีโอกาสแท้ง 15% อายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสแท้งมากกว่า 30%
  2. คุณพ่อมีอายุมากเกินไป
  3. มีประวัติเคยแท้งเองมาก่อน ทำให้เกิดความเสี่ยงแท้งครั้งต่อไปราว 20% และขึ้นเรื่อย ๆ หากมีประวัติการแท้งมาแล้วอีกครั้ง
  4. แม่ท้องประสบอุบัติเหตุในขณะตั้งครรภ์ ทำให้การฝังตัวของทารกไม่ดีพอ
  5. ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ จากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน หรือเกิดความผิดปกติของโครงสร้างตัวอ่อน
  6. ความผิดปกติรูปร่างหรือความผิดปกติของมดลูก โพรงมดลูก ปากมดลูก
  7. แม่ตั้งครรภ์เป็นโรคเรื้อรังที่คุมอาการไม่ได้



ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิด ระหว่างภาวะแท้งคุกคาม

โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดภาวะแท้งคุกคามและมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการแท้งได้ หรือในแม่ที่มีเลือดออกมา ชิ้นส่วนการตั้งครรภ์บางส่วนหลุดปนเลือดมาด้วย อาจจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยการขูดมดลูก หรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศ

ในแม่ท้องบางรายที่ยังสามารถ ประคองการตั้งครรภ์ต่อไปได้ อาจพบความผิดปกติแทรกซ้อนอื่น อาทิ ภาวะรกเกาะต่ำ, รกลอกตัวก่อนกำหนด, คลอดก่อนกำหนด หรือทารกในครรภ์น้ำหนักน้อย เจริญเติบโตไม่เต็มที่

ภาวะแท้งคุกคาม



วิธีสังเกตตัวเอง เพื่อป้องกันภาวะแท้งคุกคาม

  1. สังเกตปริมาณของเลือดที่ออก : ซึ่งโดยปกติแล้ว ปริมาณของเลือดที่ออกต้องน้อยลงจนหมดไปในที่สุด แต่ถ้าเลือดออกมากขึ้นกว่าเดิม ควรรีบพบแพทย์ทันที
  2. สังเกตสีของเลือด : หากพบว่าเลือดที่ออกเป็นสีดำ แปลว่าเป็นเลือดเก่าที่ค้างอยู่ แต่ถ้าเป็นสีแดงสด แปลว่าเป็นเลือดใหม่ที่กำลังลอกตัว ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีทั้งคู่
  3. สังเกตอาการปวดท้อง : หากมีอาการปวดท้องน้อย ในลักษณะปวดบีบ ๆ เหมือนปวดประจำเดือน ถือเป็นสัญญาณว่ามดลูกบีบตัว มีสิทธิ์ที่ถุงน้ำคร่ำก็จะถูกบีบให้หลุดออกมาได้
  4. มีอาการปวดท้องน้อยร่วมไหม : ซึ่งอาการที่ว่านี้จะเริ่มปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็เป็นสัญญาณว่า มดลูกอาจกำลังบีบตัว และทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้



การดูแลครรภ์

ในขณะเดียวกัน การดูแลตัวเองให้ห่างจากภาวะแท้งคุกคาม อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทุกคน แต่ถ้าหากลดปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งเร้าอื่นได้ ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งวิธีดูแลตัวเอง ด้วยการลดความเสี่ยง สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้ยาเสพติด
  • ลดปริมาณคาเฟอีน งดชา งดกาแฟ
  • เลี่ยงอาหารที่ทำให้ไม่สบายตัวต่อแม่และลูก
  • เลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่เป็นพิษ
  • งดการทำความสะอาดที่ใช้แรง หรือไม่ยกของหนัก
  • เสริมวิตามินจำพวกโฟลิก เหล็ก
  • ออกกำลังกายเบา ตามคำแนะนำแพทย์ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างที่มีเลือดออกทางช่องคลอด



ภาวะแท้งคุกคาม สามารถพบในแม่ท้องได้ถึง 25% ซึ่งหากคุณแม่คนไหนรู้สึกถึงความผิดปกติ ในขณะที่มดลูกยังไม่เปิด การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นับเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดค่ะ และเพื่อการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ตลอดจนการคลอด ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา การดูแลสุขภาพของตนเองอย่างครบถ้วน ย่อมเป็นการป้องกันที่ได้ผลที่สุด

นอกจากนี้ภาวะแท้งคุกคาม ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 ซึ่งปัจจัยอาจจะเกิดขึ้นได้หลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย คุณแม่ท้องจึงควรหมั่นพบแพทย์ให้ครบตามนัดหมาย พร้อมทั้งสังเกตความผิดปกติของตนเองเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกน้อยค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

รู้ทัน อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์

5 สัญญาณคลอดก่อนกำหนด แม่ท้องรู้ไว้ จะได้รับมือทัน!

เกล็ดเลือดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายที่ต้องควรระวัง หากเจอช้าแม่ท้องเสี่ยงเสียชีวิต !

ที่มา : 1, 2, 3