หนึ่งในรายการทีวีโชว์ที่เด็ก ๆ ชอบดูกันอย่าง มวยปล้ำ หากเป็นกีฬาจริงคงไม่เป็นปัญหา แต่ที่ที่เด็ก ๆ ชอบดูกันดันเป็นรายการเพื่อความบันเทิงที่เต็มไปด้วยความรุนแรง อย่างที่กีฬาจริง ๆ ไม่มีทางเป็นได้ และเด็กเล็กที่ชอบมาก อาจเกิดการเลียนแบบจนเป็นอันตรายได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
มวยปล้ำคืออะไร ทำไมจึงได้รับความนิยมในหมูเด็ก ๆ
เมื่อพูดถึง “มวยปล้ำ (Wrestling)” โดยปกติแล้วจะหมายถึงกีฬาประเภทศิลปะการป้องกันตัว ซึ่งเป็นการต่อสู้โดยการใช้ทักษะจับทุ่ม หรือล็อกคู่ต่อสู้เป็นหลัก เป็นหนึ่งในกีฬาที่มีการแข่งขันกันในระดับสากล เช่น การแข่งขันใน Olympic เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นกีฬาที่โด่งดังในฝั่งของตะวันตก แต่สำหรับคนไทยที่มีขนาดตัวเล็กกว่า ทำให้ไม่ได้รับความนิยมในการฝึกฝนเทียบเท่ากับมวยไทยนั่นเอง ส่วนที่นิยมรับชมกันผ่านสื่อในบ้านเรา หรือในหมู่เด็กเล็กเองก็จัดว่าเป็นรายการสาย Entertainment ไม่ใช่กีฬาที่มีความจริงจังแต่อย่างใด
รายการที่ว่านี้ คือ รายการทีวีโชว์ที่มีชื่อว่า “WWE” และ “AEW” โดยรายการดังกล่าวนี้เป็นการนำศิลปะป้องกันตัวของกีฬาชนิดนี้มาปรับใช้เป็นองค์ประกอบในการแสดง มีทั้งเนื้อเรื่อง, ตัวละครฝั่งดี, ตัวละครฝั่งร้าย โดยใช้การแข่งขันแบบต่อสู้มาเป็นการตัดสินเหมือนกับดูหนังแอ็กชันประเภทหนึ่ง ซึ่งการต่อสู้ของรายการเหล่านี้ ได้เปลี่ยนรูปแบบไม่ได้มีแค่จับทุ่ม หรือล็อกคู่ต่อสู้ แต่ยังรวมไปถึงการเตะ การต่อย มีการใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เสริมในการต่อสู้ เช่น เก้าอี้ หรือค้อน เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ก่อนสายเกินไป
3 จุดเด่นที่ทำให้เด็ก ๆ ชอบดูมวยปล้ำ
- ความสนุกสนใจ : กลุ่มเป้าหมายส่วนมากเป็นเด็กผู้ชาย แน่นอนว่าจะชอบความสนุก ตื่นเต้นที่ได้รับจากการต่อสู้บนเวที ที่ไม่สามารถหาการแข่งขันแบบนี้ได้ ด้วยการเป็นการแสดง จึงมีเครื่องมือ หรือรูปแบบการแข่งขันแปลก ๆ ที่กีฬาของจริงไม่สามารถทำได้ เช่น การต่อสู้กันแบบทีม หรือการต่อสู้กันทีเดียว 30 คน เป็นต้น
- มีเนื้อเรื่อง : กีฬาโดยทั่วไป คือ การเตรียมตัวมาแข่งขันหาผู้ชนะ แต่รายการนี้ มีเนื้อเรื่องชัดเจน มีตัวร้ายที่ทำไม่ดี และมีตัวดีที่คอยออกมาต่อสู้ ใน 1 ช่วงเวลา มีเส้นเรื่องมากมายที่ทำให้เด็ก ๆ อยากติดตามในอาทิตย์ต่อ ๆ ไป หรือบางครั้งตัวร้ายก็กลับมาเป็นตัวดี ส่วนตัวดีก็กลายเป็นตัวร้ายได้ด้วย
- คาแรคเตอร์ของนักแสดง : นักแสดงที่มารับบทบาทนั้นจะมีคาแรคเตอร์ของตัวละครนั้น ๆ ชัดเจน เปรียบเสมือนการได้ดูตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่นนั่นแหละ นอกจากนี้นักแสดงหลายคน ยังมีผลงานการแสดงภาพยนตร์อื่น ๆ จนมีชื่อเสียงทำให้เด็ก ๆ ยิ่งอยากติดตาม เช่น Dwayne Johnson หรือ The Rock เป็นต้น
การแสดงที่ลูกไม่เข้าใจจนอาจเลียนแบบ
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่ารายการที่ได้รับความนิยมนี้เป็นรายการทีวีโชว์เพื่อให้เกิดความ Entertainment เท่านั้น อย่างรายการที่มียอดคนดูสูงสุดในไทยอย่าง WWE จริง ๆ แล้วก็ย่อมาจาก World Wrestling Entertainment เป็นการบ่งบอกตรง ๆ ว่า สิ่งที่เห็นผ่านทีวีไม่ใช่เรื่องจริง เนื้อเรื่องก็เป็นเรื่องแต่ง ผลการแข่งขันก็ถูกกำหนดไว้แล้ว มากไปกว่านั้นยังมีการซักซ้อมคิวการต่อสู้ไว้ล่วงหน้า อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงก็เป็นอุปกรณ์เฉพาะที่ถูกทำลายได้ง่ายด้วย ส่วนตัวนักแสดงเองก็ถูกฝึกฝนร่างกายมาอย่างดีอีกต่างหาก
แม้ว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะเข้าใจว่าเป็นการแสดง แต่สำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย มักเข้าใจว่าสิ่งที่ตนดูอยู่เป็นเรื่องจริง และด้วยเรื่องราวที่เหมือนดูหนัง รวมถึงเอกลักษณ์ของแต่ละตัวละคร ทำให้เกิดการเลียนแบบขึ้นมากมายในเด็ก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการรณรงค์กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะอาจทำให้เด็ก ๆ บาดเจ็บได้ และยังทำให้เด็กเล่นกันแรงจนทะเลาะกันด้วย และการเดินไปบอกกับลูกว่า “มันแค่การแสดง” ลูกก็คงไม่เชื่ออยู่ดี
จะทำอย่างไรไม่ให้ลูกเลียนแบบมวยปล้ำ ?
การเดินเข้าไปบอกตรง ๆ เป็นวิธีที่ทำได้ แต่ได้ผลน้อย เพราะแม้แต่นักพากย์เสียงไทยก็ยังเตือนตลอดว่าเด็ก ๆ ที่ดูอยู่ห้ามเลียนแบบ หรือทางรายการเองก็ยังมีการอักษรตัวโต ๆ บนจอแทบจะตลอดว่า “Dont Try This At Home” หรือ “อย่าไปลองทำตามกันในบ้านนะ” เพราะนักแสดงที่ฝึกฝนมาอย่างดี ร่างกายแข็งแรงกำยำเมื่อการแสดงผิวคิว ก็ต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาล หายหน้าไปเป็นเดือน ๆ เหมือนกัน วิธีที่ดูแล้วจะได้ผลลัพธ์มากที่สุดก็คือ การบอกผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหากลองทำตาม
ผู้ปกครองอาจบอกกับลูกว่า “คนในทีวีได้รับการฝึกฝนมามาก เห็นไหมว่าเขาก็เตือนหนู เพราะพวกเขาก็เคยได้รับการบาดเจ็บรุนแรงเหมือนกัน” หรือบอกว่า “ถ้าลองทำตาม จะทำให้แขนหัก ขาหักได้นะ จะต้องไปให้คุณหมอรักษา หนูจะวิ่งเล่นไม่ได้อีกนานนะ เล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้ด้วย” เป็นต้น นอกจากนี้การคอยสอดส่องดูแล และกล่าวเตือนลูกบ่อย ๆ ว่าอย่าทำตามก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอด ความเข้าใจ และยอมรับว่าเป็นการแสดงจริง ๆ จะค่อย ๆ เกิดขึ้นกับลูกเอง เมื่อเขาโตขึ้นอีกสักหน่อย
ไม่เพียงแค่รายการนี้เท่านั้น รายการต่าง ๆ ที่ถูกจัดฉาก หรือภาพยนตร์ การ์ตูนผู้ปกครองต้องคอยสอดส่องดูแลด้วย ว่าสื่อที่ลูกดูจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ และควบคุมหรือไม่ ก่อนที่เด็ก ๆ จะเอาไปลอกเลียนแบบเล่นกับเพื่อนโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 เทคนิคสอนลูกขี่จักรยาน กิจกรรมแสนสนุกแถมสุขภาพดี
10 เทคนิค เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด อารมณ์ดี เป็นอัจฉริยะ
4 วิธีเคล็ดไม่ลับ เพิ่มส่วนสูง ให้ลูกน้อยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
ที่มา : 1