ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ขอต้อนรับคุณแม่เข้าสู่บทความของเรานะคะ เข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 10 แล้ว ช่วงนี้คุณแม่ และลูกในครรภ์มีพัฒนาที่ดีขึ้นมาก และคุณแม่ก 

 1797 views

ขอต้อนรับคุณแม่เข้าสู่บทความของเรานะคะ เข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 10 แล้ว ช่วงนี้คุณแม่ และลูกในครรภ์มีพัฒนาที่ดีขึ้นมาก และคุณแม่ก็ใกล้ที่จะพ้นช่วงไตรมาสแรกในไม่ช้าแล้ว วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านไปดูกันว่า ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไร และคุณแม่อาจต้องพบเจออุปสรรคในการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย

ท้อง 10 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อเข้าสู่ช่วง 10 สัปดาห์ คุณแม่อาจสงสัยว่าช่วงนี้ตั้งครรภ์มากี่เดือนแล้ว คำตอบคือ ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์เท่ากับ 2 เดือนกับอีก 2 สัปดาห์นะคะ คุณแม่อย่าลืมว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นแบบรายสัปดาห์ ไม่ใช่รายเดือน นั่นเพราะว่าการตั้งครรภ์จะใช้ระยะเวลา 40 สัปดาห์ โดยประเมินจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายนั่นเอง ซึ่งแปลว่าไม่เกิน 9 เดือนค่ะ

ทารกในครรภ์อายุ 10 สัปดาห์ เป็นอย่างไรบ้าง

ในสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่าผลสตรอว์เบอร์รีแล้ว โดยมีความยาวประมาณ 1.2 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 0.14 ออนซ์ ซึ่งทารกในครรภ์ที่อายุ 10 สัปดาห์ จะตัวยาวขึ้นหนึ่งเท่าในสามสัปดาห์ข้างหน้า เรียกได้ว่าลูกน้อยกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และนอกจากนี้ทารกในครรภ์ยังมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วยค่ะ

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

พัฒนาการดวงตา

ในช่วงนี้ดวงตาของลูกน้อยจะมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกระจกตา ม่านตา รูม่านตา เลนส์ และเรตินา จะก่อตัวขึ้นอย่างเต็มที่ แต่เปลือกตาของลูกจะปิดตลอดจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์

ทารกเริ่มมีฟัน

สัปดาห์นี้ลูกน้อยจะเริ่มมีฟันค่ะ โดยฟันของทารกจะเริ่มแข็งแรง และเชื่อมต่อเข้ากับกระดูกขากรรไกร ซึ่งโดยปกติแล้วทารกบางคนอาจเกิดมามีฟันซี่หนึ่ง หรือสองซี่ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ฟันซี่แรกของลูกน้อยจะไม่งอกจนกว่ากระทั่งอายุ 6 ถึง 10 เดือน เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงไม่ต้องแปลกใจ หากพบว่าลูกยังไม่มีฟันหลังจากคลอดนะคะ

ทารกเริ่มพัฒนาสมองระยะเริ่มต้น

ทารกจะเริ่มมีการพัฒนาสมองในระยะเริ่มต้น ซึ่งหน้าผากของลูกน้อยจะโป่งขึ้นชั่วกว่า เนื่องจากสมองที่กำลังพัฒนา อาจวัดได้ครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว นอกจากนี้ ไซแนปส์ในไขสันหลังของทารกยังช่วยให้ลูกเริ่มขยับแขนขา และนิ้วได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนาเลยนะคะ

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง

หลังจากที่ทราบพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์แล้ว คุณแม่อาจสงสัยกันใช่ไหมคะ ว่าในสัปดาห์ที่ 10 นี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในร่างกายของคุณแม่ ในช่วงนี้เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อของคุณแม่กำลังยืดออก รวมถึงหน้าอกที่จะขยายขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ คุณแม่ยังอาจเผชิญกับอาการทั่วไปเมื่อตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ ดังต่อไปนี้

เลือดออกจากช่องคลอด

คุณแม่บางคนอาจมีอาการเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่อันตรายที่เสมอไปนะคะ เพราะอาการเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์นั้น อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นอาจเพราะเส้นเลือดมีการพัฒนา และขยายตัวในบริเวณช่องคลอด ทำให้มีเลือดไหลออกมาได้ รวมทั้งมดลูกอาจมีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่เริ่มรู้ว่าท้องโป่งพองขึ้นมาบ้างแล้ว

ปวดท้องน้อย

โดยปกติแล้ว อาการปวดท้องเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ในช่วงครรภ์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องนั้น เนื่องจากร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนั่นเอง ส่งผลให้บางครั้งเกิดอาการปวดท้อง หรือปวดท้องน้อย นอกจากนี้ คุณแม่ยังอาจมีอาการปวดหัวด้วยอีกนะคะ เนื่องจากความเครียด และการพักผ่อนน้อย ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นกัน แต่หากคุณแม่มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

แพ้ท้อง

อย่างที่ทราบกันดีว่า อาการแพ้ท้องเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกนั้น จะเป็นช่วงที่คุณแม่แพ้ท้องหนักที่สุด ซึ่งคุณแม่อาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัว จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ดังนั้นคุณแม่จึงควรดื่มน้ำเยอะ ๆ รับประทานผลไม้ และพยายามไม่เครียดบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการแพ้ท้อง คืออะไร คุณแม่รับมืออย่างไรไม่ให้แพ้ท้อง?

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

หน้าอกขยาย

เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ อาจรู้สึกได้ว่าหน้าอกมีการขยายใหญ่มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างน้ำนม ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ต้องแปลกใจเลยนะคะ หากพบว่าหน้าอกตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยหน้าอกจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่สอง และสาม จากนั้นอาการก็จะหายไป และกลับมาเป็นปกติค่ะ

ตกขาว

หากคุณแม่มีอาการตกขาว ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เนื่องจากเลือดมีการไหลเวียนไปเลี้ยงที่บริเวณอวัยวะเพศมากขึ้น อีกทั้งเอสโตรเจนที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการตกขาวลักษณะใส และไม่มีกลิ่นออกมามาก แต่คุณแม่อย่าลืมนะคะว่าจริง ๆ แล้ว การตกขาว คือการกำจัดแบคทีเรียแบบธรรมชาติ หากพบว่าตกขาวมีสี มีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดเป็น คุณแม่อย่าลืมไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

อารมณ์แปรปรวน

ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีอารมณ์แปรปรวนขึ้น ๆ ลง ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จึงทำให้คุณแม่มีอารมณ์แปลกไป หากคุณแม่รู้สึกหงุดหงิด หรืออารมณ์เสียบ่อย ๆ ต้องเข้าใจก่อนว่านี่คืออาการปกติของคนท้อง ไม่เกี่ยวกับสุขภาพทางร่างกายแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นหากคุณแม่มีอารมณ์แปรปรวน อย่าลืมหากิจกรรมเพื่อคลายเครียดนะคะ

เคล็ดลับการดูแลของคุณแม่ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

หลังจากที่ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว และทารกในครรภ์มีการพัฒนาทางร่างกายมากขึ้น คุณแม่จึงควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียบุตรได้ง่าย เรามาดูเคล็ดลับการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์กันค่ะ

ซื้อเสื้อผ้าใหม่

ร่างกายของคุณแม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นอาจไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ได้ คุณแม่สามารถไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะชุด หรือกางเกงที่เอวหลวม เพื่อจะได้ไม่อึดอัดท้อง และสวมใส่สบายเวลานั่ง เดิน และขยับตัวมากขึ้น นอกจากนี้ คุณแม่อย่าลืมหาเวลาไปออกกำลังกายด้วยนะคะ เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อีกด้วย

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ในช่วงตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีโฟลิก ผลไม้ วิตามิน และไฟเบอร์ รวมถึงดื่มนมบ่อย ๆ เพื่อเสริมแคลเซียมให้แก่ร่างกาย และสร้างกระดูก และฟันให้ทารก นอกจากนี้ คุณแม่สามารถดื่มชาสมุนไพรแทนการดื่มกาแฟได้นะคะ เพราะการดื่มคาเฟอีนนั้น อาจเกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ต้องรู้! อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง สำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง?

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

บริโภคแคลเซียมมากขึ้น

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว คุณแม่ควรดื่มนม และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมากขึ้น เพราะลูกน้อยเริ่มมีการสร้างฟันแล้ว การดื่มนมจะช่วยบำรุงกระดูก และฟันของลูกน้อย และคุณแม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรรักษาสุขภาพของตัวเอง ไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ นะคะ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ด้วย

ไปฝากครรภ์

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คุณแม่ห้ามลืมเด็ดขาดเลยคือ การไปฝากครรภ์ หากสามีของคุณไม่ได้ไปฝากครรภ์ครั้งแรกด้วย ให้ลองชวนคุณสามีไปพบแพทย์ด้วยกันในครั้งหน้านะคะ เพื่อที่เขาจะได้ทราบว่าคุณแม่จะมีพัฒนาการอย่างไร และต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง ที่สำคัญคุณแม่อย่าลืมปรึกษาแพทย์เรื่องการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับคนท้องด้วยนะคะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ในช่วงนี้ทารกในครรภ์ก็เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และร่างกายคุณแม่เอง ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างชัดเจน หากคุณแม่อยากรู้อาการที่จะต้องพบเจอในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ สามารถติดตามเรื่องของการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรานะคะ หรือเลือกบทความที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ถัดไป และสัปดาห์ก่อนหน้าได้ที่ด้านล่างนี้เลย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ที่มา : 1, 2, 3