วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด เรื่องที่แม่ท้องควรรู้ ก่อนเริ่มให้นมลูก !

ต้องบอกเลยว่า ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์จริง ๆ เมื่อเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้ก็คือ การให้นมล 

 1027 views

ต้องบอกเลยว่า ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์จริง ๆ เมื่อเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้ก็คือ การให้นมลูก นั่นเองค่ะ ซึ่งเรื่องนี้นับว่า เป็นหนึ่งในปัญหาจุกจิก ที่แม่ท้องหลายคนแอบบ่นกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องของ วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด เพราะแม่แต่ละคนต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป

ดังนั้น Mamastory จะเป็นตัวแทนเองค่ะ จะพาคุณแม่ไปเรียนรู้เรื่องนี้เอง เพราะว่าการเตรียมเต้านมให้พร้อม ก่อนการคลอดลูกน้อย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากเตรียมรับมือไม่ทัน อาจสร้างความกังวลได้ และถ้าหากพร้อมแล้ว ไปอ่านบทความดี ๆ ที่ด้านล่าง พร้อมกันได้เลยค่ะ !

วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด



วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด เรื่องน่ารู้ที่แม่ควรรู้ !

สำหรับบ้านไหน ที่มีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัญหาการเตรียมตัวให้พร้อม ย่อมเป็นเรื่องสำคัญค่ะ โดยปกติแล้วธรรมชาติของหัวนมเพศหญิง จะถูกเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่ตั้งครรภ์อยู่แล้ว โดยจะมีเลือดหล่อเลี้ยงเพิ่มขึ้น และมีความยืดหยุ่นจากต่อมไขมันเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนสำคัญในต่อไปนี้คือ แม่ท้องควรสังเกตลักษณะของเต้านม และหัวนมค่ะ เพื่อเช็กว่ามีความผิดปกติตรงไหนหรือไม่ ซึ่งปัญหาการไม่รู้ลักษณะหัวนม อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ในช่วงที่ต้องให้นมลูก แต่ปัญหานี้หากสามารถแก้ไขได้เร็ว ก็จะช่วยให้เต้านมพร้อมได้ไวขึ้นค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปั๊มนม เก็บไว้ให้ลูกกินแบบยาว ๆ ทำอย่างไรดี?

วิธีเช็กเต้านมและหัวนม

โดยแม่ท้องสามารถเช็ก และตรวจสอบหัวนม ว่าผิดปกติหรือไม่ ได้ด้วยตัวเอง ลักษณะแบบไหนที่ควรจะต้องแก้ไข ก่อนที่จะถึงช่วงเวลาให้นมลูกจริงจัง โดยแม่ท้องสามารถใช้วิธีการเช็กแบบคร่าว ๆ ได้ ดังนี้

1. ดูขนาด

โดยสามารถสังเกตขนาดของเต้านม และหัวได้ได้ด้วยตาเปล่า หรือคลำสัมผัส เพื่อสำรวจว่า ภายใต้เต้านมมีก้อนผิดปกติหรือไม่ เต้านมเบี้ยวหรือเปล่า มีรอยแตกที่หัวนมไหม หรือหัวนมแบนบุ๋มลงไปมั้ย

วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด



2. ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

2.1 Pinch Test

วิธีการตรวจเต้านม ด้วยการดูความยืดหยุ่นของหัวนม โดยใช้วิธีการวางนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ที่ฐานของหัวนม ใกล้กับขอบลานนม แล้วค่อย ๆ กดนิ้วเข้าหากัน เพื่อบีบหัวนมแบบเบา ๆ โดยสังเกตลักษณะของหัวนมได้ดังนี้

  • หัวนมปกติ : จะยื่นออกมาจากลานนม โดยปกติราว ๆ 1 ซม.
  • หัวนมสั้น : เป็นเรื่องพบได้เยอะ โดยหัวนมจะอยู่กับที่ หรือเคลื่อนที่แค่เล็กน้อย
  • หัวนมบอด : หลังการบีบ หัวนมจะหดตัว และจมกลับลงไป



2.2 Waller’s Test

เป็นการตรวจเต้านมอีกหนึ่งวิธี โดยวางมือบนเต้านม ให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ราบไปกับผิวหนัง โดยให้นิ้วอยู่ชิดกับหัวนม ตรงรอยต่อระหว่างหัวนมและลานหัวนม แล้วกดนิ้วเข้าหากัน เหมือนเป็นการเลียนแบบการกินนมของลูก หากจับได้ปกติแสดงว่าไม่มีปัญหา แต่ถ้าจับไม่ติด หรือผลุบลงไปลึก แสดงว่าหัวนมบุ๋ม ลูกจะดูดไม่ได้

วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด



3. วัดความยาวของหัวนม

โดยสามารถตรวจได้ทั้งตาเปล่า หรือใช้อุปกรณ์เสริม เพื่อดูว่าหัวนมของแม่ที่ยื่นออกมา มีความยาวมากน้อยแค่ไหน และความยาวนี้สามารถใช้บอกได้ว่า ความยาวที่วัดได้ คือหัวนมแบบไหน ได้แก่

  • หัวนมปกติ มีความยาวประมาณ 0.7 – 1 ซม.
  • หัวนมสั้น มีความยาวประมาณ 0.1 – 0.6 ซม.
  • หัวนมบอด หัวนมบุ๋ม จะไม่ยื่นออกมา



ข้อควรระวังที่ควรรู้

หากแม่ท้องมีปัญหาเรื่องหัวนม หรือเต้านม ในช่วงที่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้ว ไม่แนะนำให้กระตุ้นด้วยการนวด จับ หรือสัมผัสนานเกินไป เพราะอาจเกิดการกระตุ้นอื่น จนทำให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเกิดอันตรายกับทั้งแม่และเด็กได้ ดังนั้นหากมีปัญหาหรือกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการนวด

วิธีเตรียมเต้าก่อนคลอด



เทคนิคดูแลเต้านม

  1. ดูแลเต้านมด้วยการรักษาความสะอาด อาบน้ำเป็นประจำ และซับเต้าให้แห้งเสมอ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทาครีม หรือโลชันที่หัวนม ที่อาจสร้างการอุดตันได้
  2. เลี่ยงการขัดหรือถูแรง ๆ ที่หัวนม หรือการดึงกำจัดไขมัน ที่อาจนำไปสู่การเป็นแผล หรืออักเสบติดเชื้อ
  3. ปรับไซซ์ยกทรงให้พอดี หากเต้านมมีการขยายใหญ่ขึ้น ควรเลือกขนาดที่ใส่สบาย ไม่หลวม หรือคับจนเกินไป และไม่ควรใช้แบบมีโครงเหล็ก
  4. หมั่นนวดเต้านมก่อนคลอดเป็นประจำ เพื่อให้น้ำนมทำงานได้ดี และควรหมั่นบีบน้ำนมออก วันละ 2-3 หยดทุกวัน เพื่อเปิดท่อ และป้องกันการอุดตัน
  5. หากมีน้ำนมซึมก่อนคลอด หลังจากบีบทำความสะอาดแล้ว ควรใช้แผ่นซับน้ำนมให้แห้ง และทำความสะอาดบริเวณเต้าโดยรอบด้วย
  6. หมั่นทานอาหารบำรุงสุขภาพ ที่จะช่วยในการกระตุ้นน้ำนม ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ สมุนไพร รวมไปถึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
  7. ช่วงหลังคลอด ควรฝึกให้ทารกดูดเต้า เพื่อกระตุ้นปริมาณน้ำนม ดังนั้นก่อนการคลอดจึงควรฝึกการเข้าเต้า ด้วยตุ๊กตาก่อน เพื่อหาท่าที่สบายตัวที่สุด



ปัญหาเรื่องเต้านมของแม่ท้องอาจจะเป็นเรื่องที่ดูลำบากหรือสามารถจัดการได้ยากแต่ถ้าหากรู้เทคนิคที่ดีและเริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดความกังวลไปได้เยอะค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

นวดเต้านม เทคนิคการนวดเพื่อเพิ่มน้ำนม พร้อมวิธีดูแลเต้านมหลังนวด

5 สารอาหารในนมแม่ แหล่งรวมสารอาหารที่ทารกต้องการต่อพัฒนาการ

รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

ที่มา : 1, 2