เพราะตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน เป็นเรื่องหนักที่แม่ท้องต้องเจอ ไหนจะเรื่องฮอร์โมนแปรปรวนที่ส่งผลต่ออารมณ์ ยังมีการท้องแข็ง ปวดท้องน้อย ที่เป็นอาการปวดท้องที่ถี่ขึ้นเมื่อใกล้ช่วงคลอดแล้ว วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไปรู้จักกับ อาการเจ็บท้องระหว่างตั้งครรภ์ กันค่ะ ว่าแบบไหนคือ เจ็บท้องคลอดจริง และแบบไหนคือเจ็บท้องเตือน ให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับรู้ และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการคลอดได้ค่ะ
คนท้องปวดท้องช่วงใกล้คลอด เพราะอะไร
อาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นอาการที่ทำให้คุณแม่หลายคนรู้สึกเป็นกังวล เพราะกลัวว่าจะเป็นสัญญาณอันตราย เช่น การแท้งลูก หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แต่ในความจริงแล้ว อาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ถือได้ว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักจะไม่ค่อยมีอันตรายอะไรมากนัก ตราบใดที่อาการปวดท้องนั้นไม่รุนแรงมากจนเกินไป
อาการคนท้องปวดท้อง เกิดจากสาเหตุดังนี้
- เจ็บท้องเตือน หรือมดลูกหดเกร็ง
- ตะคริว
- ท้องผูก
- ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
- อาการปวดหน่วงท้องน้อย
นอกจากนี้อาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ ยังอาจมีสาเหตุมาจากการเจ็บท้องคลอดจริง หรือการแท้งลูกได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องท้องเสีย อันตรายไหม? แม่ท้องท้องเสียกินยาอะไรได้บ้าง?
อาการเจ็บท้องระหว่างตั้งครรภ์ ที่น่าห่วง
- ปวดท้อง ท้องแข็งตึง
ในที่นี้คือการปวดบริเวณท้อง น้อยมดลูก หรือหัวหน่าว ส่วนท้องแข็งตึงนั้นคือ การที่มดลูกบีบรัดตัวแข็งเป็นก้อนกลม ซึ่งหากทิ้งไว้นานจะทำให้ปากมดลูกเปิด เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คุณแม่จึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะ นอกจากนี้อาการปวดท้องหรือท้องแข็งตึงนั้น ยังเกิดจากการร่วมเพศอย่างรุนแรง ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เป็นผลทำให้มดลูกหดรัด และอาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
ในคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติ อาจมีอาการท้องแข็งตึงได้บ้าง เช่น เวลาพลิกตัว หรือลูกดิ้น แต่หากรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยกว่าปกติ ควรนอนพักผ่อนให้มาก หากนอนพักแล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการท้องแข็งตึงทุกครึ่งชั่วโมง ติดกันเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ควรให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอ เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้
- อาการปวดท้องน้อย
หลังจากเริ่มตั้งครรภ์เดือนเศษ ๆ ขึ้นไป คุณแม่ส่วนใหญ่อาจมีการปวดท้องน้อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยอาจจะมีการปวดหน่วงท้องน้อยนาน ๆ ครั้ง แต่ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน ซึ่งสามารถพบได้เป็นปกติ เนื่องจากการขยายตัวของมดลูก มดลูกมีการเกร็งตัวเล็กน้อยไม่รุนแรง
แต่อย่างไรก็ตามมักไม่ปวดมาก เมื่อพักหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ควรจะอาการทุเลาลง แต่ถ้ามีอาการปวดหน่วงบ่อย ๆ มากกว่า 10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือ 2-3 ครั้ง ต่อชั่วโมงติดต่อกัน อาจเป็นสัญญาณเตือนของการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ จึงควรรีบปรึกษาแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 1 – 42 สัปดาห์ ติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์
วิดีโอจาก theAsianparent
อาการพบบ่อยในแม่ตั้งครรภ์
- อาการปวดหลัง
การปวดหลังของคุณแม่ทั้งหลาย เกิดจากการที่ต้องแบกน้ำหนักมดลูกและทารกที่ใหญ่ขึ้น และยังมีสาเหตุมาจากการนั่งไม่ถูกสุขลักษณะ การสวมรองเท้าส้นสูงเกินไป การยกของหนัก หรือบางท่านต้องอุ้มเด็ก โดยอาจจะเริ่มจากการนั่งและฝึกกายบริหารให้ถูกท่า พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่อาจทำให้ปวดหลังไปในเวลาเดียวกัน
- อาการท้องผูก
อาการท้องผูกเกิดจากการทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อยเกินไป ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ลดลง ร่วมกับขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นไปกดลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายยาก เป็นสาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารได้ สามารถแก้ได้ด้วยการดื่มน้ำทานผักและผลไม้ให้เพิ่มขึ้น
สัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
1. ลูกดิ้นน้อยลง
โดยปกติแม่ท้องควรสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์อยู่ตลอด เพราะเด็กแต่ละคนมีความถี่ในการดิ้นที่ต่างกัน ถ้าลูกน้อยของคุณแม่ดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย คุณแม่ควรไปโรงพยาบาลทันที เพราะเคยมีบางกรณี ที่เด็กเสียชีวิตก่อนคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์เช่นกัน โดยวิธีที่จะรู้ได้ก็คือ การสังเกตการเคลื่อนไหว หรือการนับลูกดิ้น ปกติลูกในท้องจะต้องดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง/วัน ซึ่งการดิ้นของลูก บ่งบอกว่า ลูกยังมีชีวิตอยู่ หรือมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยลูกจะดิ้นมากหลังจากที่คุณแม่กินอาหารเสร็จใหม่ ๆ
2. มีเลือดออกทางช่องคลอด
สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งปกติรกจะลอกตัวจากผนังมดลูก หลังจากเด็กคลอดแล้ว แต่ถ้ารกลอกตัวก่อนเด็กคลอด เนื่องจากครรภ์เป็นพิษ หรือถูกกระแทกบริเวณท้องอย่างรุนแรง จะทำให้มีเลือดไหลออกในโพรงมดลูก อาจทำให้เด็กในครรภ์ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดหน้าท้อง หน้าท้องแข็งตึง หรือกดแล้วเจ็บ มดลูกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีเลือดขังอยู่ภายใน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่มีเลือดออกทางช่องคลอด คือ รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกบางส่วนหรือทั้งหมด เกาะอยู่ที่ตอนล่างของมดลูก แทนที่จะเกาะที่ผนังตอนบน โดยอาการที่จะต้องรีบไปพบแพทย์นั้นคือ จะมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่จะไม่เจ็บครรภ์ ซึ่งถ้าเลือดออกมากแพทย์จะต้องเอาเด็กและรกออกให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เลือดหยุดไหล
3. น้ำเดิน
น้ำเดินหรือการที่มีน้ำใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ ไหลออกมาทางช่องคลอด นั่นแสดงว่าถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว ซึ่งจะไม่เป็นมูก หรือว่าตกขาว ดังนั้นเมื่อมีอาการน้ำเดิน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะถ้าหากทิ้งไว้เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าไปในโพรงมดลูก จนเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้แม่และลูกอาจเสียชีวิตได้ ให้คุณแม่สังเกตหากมีน้ำคร่ำไหลออกมาเล็กน้อยตามหน้าขา ให้ใส่ผ้าอนามัย ไม่ควรเดินมาก และสังเกตสัก 2-3 ชั่วโมง ถ้าน้ำคร่ำยังไม่หยุดไหล ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์
4. บวม – ความดันโลหิตสูง
อาการบวม เกิดจากโรคพิษแห่งครรภ์ จะพบในคุณแม่ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน และครรภ์แฝด สำหรับอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์คือ คุณแม่จะมีอาการบวมตั้งแต่หลังเท้า มือ นิ้ว ปวดหัว และตาพร่ามัว โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผากและท้ายทอย บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือแขนขาร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาทันและช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้
อาการผิดปกติอื่น ที่ควรแจ้งให้แพทย์ที่ฝากครรภ์ทราบเพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที
- ปัสสาวะแสบขัด ไม่สุด ปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ
- ตกขาวมีกลิ่น หรือสีที่ผิดปกติ
- มีอาการคันช่องคลอด
- นอนไม่หลับ
- ท้องผูก หรือถ่ายปนเลือด
- ปวดหลังมาก
- เป็นตะคริว
- มีอาการชาปลายมือปลายเท้า
- จุกแสบลิ้นปี่ หรือมีอาการแสบร้อนที่อกหรือลำคอหลังรับประทานอาหารหรือเวลานอน
อาการเจ็บครรภ์คลอด
การเจ็บครรภ์คลอด หรือ true labor pain มักจะมีอาการท้องแข็ง มดลูกหดรัดตัว ปวดร้าวไปที่หลัง หรือหน่วงลงช่องคลอดทวารหนัก มีอาการเจ็บสม่ำเสมอ มีความถี่และความแรงของการหดรัดตัวของมดลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองเปลี่ยนอิริยาบถดูค่ะ เพราะถ้าหากพักแล้วยังไม่ดีขึ้น และถ้าอายุครรภ์ไม่ถึง 37 สัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
เจ็บท้องจริง เจ็บท้องหลอก แยกได้อย่างไร
ในช่วงประมาณเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ หรือประมาณสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ มดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจจะเริ่มมีการหดเกร็ง และบีบตัวอยู่บ่อยครั้ง เป็นสัญญาณเตือนที่ว่า ใกล้จะถึงเวลาคลอดของคุณแม่แล้ว ซึ่งสามารถแยกแยะอาการเจ็บท้องจริงและเจ็บท้องเตือนได้ ดังต่อไปนี้
เริ่มมีอาการเมื่อไหร่
- เจ็บท้องจริง : ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ หากมีอาการเร็วกว่านี้ อาจหมายถึงการคลอดก่อนกำหนด
- เจ็บท้องเตือน : ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
ความถี่
- เจ็บท้องจริง : มีอาการปวดเป็นระยะ อาจมีอาการถี่มากขึ้น และมีอาการปวดมากขึ้น
- เจ็บท้องเตือน : นาน ๆ ครั้ง ไม่สม่ำเสมอ
ลักษณะอาการ
- เจ็บท้องจริง : มดลูกแข็งตัวขึ้น มีอาการปวดร้าวที่หลัง ลามมายังบริเวณท้อง และหัวหน่าว หรืออาจมีอาการปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระ อาจมีมูกเลือดสีแดงสด ถุงน้ำคร่ำแตก มีน้ำเดิน
- เจ็บท้องเตือน : มีอาการปวดทั่วบริเวณท้องน้อย และมีอาการปวดคงที่ ไม่มีอาการปวดรุนแรงขึ้น อาจมีมูกเลือดสีแดงเข้ม ทารกอาจจะดิ้นบ่อยและแรงขึ้น
หากคุณแม่ท่านไหนยังคงไม่แน่ใจว่า อาการปวดท้องที่กำลังเป็นนั้น เป็นอาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องคลอดจริงกันแน่ ขอแนะนำให้คุณแม่ไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลก่อนเลย อย่ากลัวคุณหมอจะต่อว่าหากเป็นเพียงการเจ็บเตือน เพราะถึงอย่างไร ความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เสี่ยงแท้งลูกจริงไหม?
คนท้องเครียด ร้องไห้ จะเป็นอะไรไหม? แม่ท้องเครียดมากทำไงดี?