เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ทุกคนควรรู้จัก !

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในอาการป่วยที่หลายคนรู้จัก แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับโรค เอดส์ (AIDS) มีผู้ป่วย 

 593 views

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในอาการป่วยที่หลายคนรู้จัก แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับโรค เอดส์ (AIDS) มีผู้ป่วยหลายคน ที่รู้สึกว่าร่างกายของตนเองไม่ปกติ แต่กลับเพิกเฉยและปล่อยทิ้งไว้ หรืออายที่จะเข้ารับการรักษา ทำให้อาการของโรครุนแรง ลุกลามเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ทันเวลา

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความเข้าใจกับโรคเอดส์ให้ชัด ๆ อาการต้องสงสัย และความเสี่ยงมีอะไรบ้าง หากพร้อมแล้วดูได้เลยค่ะ !



โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือโรคที่สามารถติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นช่องคลอด ปาก หรือทวารหนัก หรือในบางรายอาจได้รับเชื้อจากเลือด หรือจากแม่ท้องสู่ทารกโดยตรง

ปัญหาหลักของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คือ การที่ผู้ป่วยเมินอาการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการคัน ปวดแสบ ปัสสาวะขัด ฯลฯ ที่เป็นอาการเสี่ยงต่อติดเชื้อ หรือบางคนอาจจะอายที่จะรับการรักษา ทำให้อาการของโรครุนแรงเพิ่มขึ้น กว่าที่จะรักษาหรือเริ่มไปหาหมอ ก็ทำให้โรคมีความรุนแรงและลุกลามกว่าเดิม


เอดส์



เอดส์ คืออะไร ?

โรคเอดส์ หรือ AIDS (Acquired Immune Deficiency Syndrome) เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเชียนซีไวรัส หรือเรียกกันว่า เชื้อเอชไอวี (HIV) ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกาย แล้วจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค

เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย จึงทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี มีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนในที่สุดร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ในการป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคภายนอก จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ อาทิ วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในกระแสโลหิต เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต เพราะไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกายได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคเริม เกิดจากอะไร? มาดูถึงสาเหตุ พร้อมวิธีการรักษากันดีกว่า



เอดส์มีกี่สายพันธุ์ ?

ในปัจจุบันค้นพบมากกว่า 10 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ เอชไอวี 1 (HIV-1) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่แพร่ระบาดอยู่ใน ยุโรป แอฟริกากลาง และสหรัฐอเมริกา ส่วนเอชไอวี 2 (HIV-2) แพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก

ในประเทศไทยมักพบบ่อยคือ เชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์เออี (A/E) หรือ (E) ซึ่งสามารถพบได้กว่าร้อยละ 95 ที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง และสายพันธุ์บี (B) ที่เกิดจากการติดเชื้อระหว่างเพศเดียวกัน หรือการใช้เข็มเดียวกันในการเสพยา



สาเหตุการติดเชื้อเอดส์

1. ร่วมรักกับผู้ติดเชื้อแบบไม่ป้องกัน

การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน รวมไปถึงการร่วมเพศโดยช่องทางธรรมชาติ อาทิ ช่องคลอด ปาก หรือทวารหนัก โดยไม่ป้องกัน ทำให้มีโอกาสกว่า 83% ในการติดเชื้อ



เอดส์



2. การได้รับเชื้อทางเลือด

สามารถแบ่งออกได้ 2 กรณีใหญ่ คือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ในกลุ่มของผู้เสพสารเสพติดร่วมกัน และติดเชื้อจากเลือดบริจาค โดยเลือดที่ได้จากการบริจาคหรือการผ่าตัด มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่ามาจากแหล่งใด แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถคัดกรองได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวล ปลอดภัยแบบ 100%



3. ติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

ข้อนี้จะเกิดขึ้นกับแม่ที่มีเชื้อเอดส์อยู่แล้ว เพราะการตั้งครรภ์ทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อ จากแม่สู่ลูกโดยอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันสามารถทานยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ปลอดภัย 100% ดังนั้นวิธีที่ปลอดภัยคือ ตรวจเลือดก่อนแต่งงาน เพื่อหาความเสี่ยง เผื่ออนาคตวางแผนตั้งครรภ์ต่อไป



การแบ่งระยะของโรคเอดส์

1. ระยะไม่ปรากฏอาการ

ระยะติดเชื้อไม่ปรากฏอาการนี้ ผู้ป่วยจะไม่พบอาการผิดปกติอื่น ดูเหมือนคนสุขภาพแข็งแรงปกติ อาจมีอาการป่วยเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลา 7-8 ปี ก่อนเข้าสู่การติดเชื้อระยะที่ 2 ถึงจะทำให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อใส่ผู้อื่นได้



2. ระยะปรากฏอาการ

โดยในระยะนี้คือระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ โดยจะตรวจเลือดพบผลบวก และเริ่มมีอาการผิดปกติอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต มีเชื้อราบริเวณกระพุ้งแก้ม เป็นงูสวัด มีแผลเริมลุกลาม หรืออาจมีอาการป่วยเรื้อรังเป็นปี ก่อนพัฒนาเป็นเอดส์เต็มขั้นในระยะต่อไป



3. ระยะเอดส์เต็มขั้น

ในระยะนี้ ร่างกายผู้ป่วยจะถูกทำลายระบบภูมิคุ้มกันไปเป็นจำนวนมาก สามารถติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้น และร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้เท่าที่ควร ทำให้ร่างกายมีความอ่อนแอ ไม่สามารถรักษาโรคใดให้หายสนิท และมีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนบ่อยครั้ง ซึ่งผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย จะมีชีวิตอยู่ได้ราว 1-2 ปีเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา



ความแตกต่างระหว่าง HIV กับ AIDS

อย่างที่บอกว่าเอดส์มีการแบ่งระยะของโรคทั้งหมด 3 ระยะ นั่นเท่ากับว่า ระยะที่ 1-2 คือการติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่ถือว่าเป็นเอดส์ ส่วนระยะที่ 3 คือการพัฒนาเชื้อเป็นโรคเอดส์

กล่าวคือ HIV คือเชื้อไวรัสที่ทำลายภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้ภูมิบกพร่อง หากไม่รักษาจะพัฒนาเป็นเอดส์ได้ ส่วนโรคเอดส์คือผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 200 และระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนไม่สามารถรักษาให้หายได้

หากรู้ตัวว่ามีเชื้อ HIV หรือมีโอกาสเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเชื้อ จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ให้รีบเข้ารับการรักษา และกินยาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื้อ HIV สามารถรักษาให้ระงับ ไม่พัฒนาเชื้อได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป



เอดส์



เมื่อไรที่ควรตรวจหาเชื้อ

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือต้องการทราบว่าติดเชื้อหรือไม่
  • คู่รักที่ตัดสินใจแต่งงาน สร้างครอบครัว
  • ผู้ที่สงสัยในพฤติกรรมเสี่ยงของคู่นอน
  • คู่รักที่วางแผนตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ



วิธีป้องกันติดเชื้อเอดส์

เพราะโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใด สามารถป้องกันได้ หากมีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนแค่คนเดียว
  • ตรวจร่างกายและเลือด ก่อนแต่งงานหรือตั้งครรภ์
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดทุกชนิด
  • งดการใช้เข็ม หรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น



เอดส์



วิธีปฏิบัติหลังได้รับเชื้อเอดส์

สำหรับผู้ป่วย HIV หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่ต้องเพิ่มการดูแลสุขภาพตนเอง หมั่นทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่พบโรคแทรกซ้อน จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีกหลายปี โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. ทานอาหารที่มีประโยชน์
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  3. เลี่ยงหรืองดการมีเพศสัมพันธ์ หากจำเป็นต้องมีให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  4. ฝึกสมาธิ ทำใจให้สงบ ลดความเครียด
  5. ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะสามารถแพร่เชื้อไปยังลูกได้ถึง 30%



ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์

มีข้อมูลกว่า 80% ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ป่วยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มักมาจากการไม่ป้องกันระหว่างร่วมรัก ส่วนการสัมผัสคู่รักด้วยการกอด หรือสัมผัสภายนอก ไม่ได้ทำให้เสี่ยงติดเชื้อไปด้วย

รวมไปถึงผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ จากการถูกยุงหรือแมลงตัวเดียวกันกัด และการใช้ห้องน้ำร่วมกัน การว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือทานอาหารร่วมกัน ต่างไม่ทำให้ติดเชื้อทั้งนั้น

โรคเอดส์ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรง ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพื่อการป้องกันที่ดีที่สุด ควรงดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า มีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือตรวจหาเชื้อก่อน เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย

เรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ควรเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม การมีความรักควบคู่กับการ Safe Sex  เป็นเรื่องที่ควรทำ ถ้าไม่อยากให้ความรักวันนี้ กลายเป็นปัญหาในวันหน้า ทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันทั้งตัวคุณและคนรักอยู่เสมอค่ะ !

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

หูดหงอนไก่ (Anogenital Wart) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เรื่องใหญ่สำหรับชีวิตคู่

หนองในเทียม (Chlamydia) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย !

หนองในแท้ (Gonorrhea) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดได้ทั้งชายและหญิง !

ที่มา : 1, 2