เส้นเลือดขอด อีกหนึ่งปัญหากังวลใจของแม่ตั้งครรภ์ ไม่แพ้กับอาการหน้าท้องลาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 3-4 เดือน จะเกิดเส้นเลือดขอดบริเวณต้นขา เหนือหัวเข่า หลังต้นขา มีลักษณะเส้นเลือดปูดโปน หรือเป็นเส้นเล็ก ๆ คล้ายหนอนเห็นได้ชัดเจน สาเหตุเกิดจากทารกในครรภ์มีร่างกายโตขึ้น จนทำให้ร่างของทารกไปกดทับเส้นเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น หลอดเลือดเล็ก ๆ บริเวณน่องเท้าและโคนขา จึงโป่งพองขึ้นกลายเป็นเส้นเลือดขอดนั่นเองค่ะ
บางคนหายไปหลังคลอด แต่บางคนนอกจากจะไม่หายแล้ว กลับมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นวันนี้ Mama Storry จะพาไปเข้าใจอาการเส้นเลือดขอดที่อาจเกิดกับแม่ท้อง รวมไปถึงวิธีป้องกัน การรักษาและการดูแลตัวเองค่ะ!
เส้นเลือดขอดตอนท้อง เกิดจากอะไร ?
ภาวะเส้นเลือดขอด เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาผู้หญิงหลังคลอดเท่านั้น คนที่มีพฤติกรรมในชีวิตประจำวันก็มีความเสี่ยงอันตรายต่ออาการนี้ แต่สำหรับอาการเส้นเลือดขอดตอนท้อง เกิดจากเมื่อแม่ท้องอายุครรภ์มากขึ้น มดลูกขยายใหญ่ไปกดทับเส้นเลือดดำโคนขาที่ผ่านจากอุ้งเชิงกรานเข้าสู่ช่องท้อง เส้นเลือดนี้รับเลือดจากขาทั้งสองข้าง ซึ่งเมื่อถูกกดทับนาน ๆ จากการยืนหรือนั่งนาน ๆ จะเกิดความดันในเส้นเลือดสูงขึ้น เส้นเลือดเล็ก ๆ จึงโป่งพองขึ้นเป็นเส้นและสีชัดเจนนั่นเอง นอกจากการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร แม่ท้องเป็นซึมเศร้าอันตรายไหม?
1. เกิดจากฮอร์โมนทางเพศ
อย่างที่กล่าวไปว่ามักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นฮอร์โมนเพศหญิงจึงมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่า อีกทั้งความบอบบางของผิวหนังที่น้อยกว่าผู้ชาย
2. น้ำหนักตัว
การมีน้ำหนักที่มากเกินไป ในผู้หญิงตั้งครรภ์และคนที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ อาจทำให้เลือดในร่างกายไหลเวียนไม่สะดวก จึงเกิดการคั่งค้างของเลือดบริเวณขา ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดทั้งข้อพับหลังเข่า และลามขึ้นไปตามต้นขา
3. กรรมพันธุ์
หากพ่อแม่เป็นเส้นเลือดขอด ลูกก็สามารถเป็นได้ หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งหากทราบว่าพ่อแม่เป็น เราควรระวังการใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
4. อายุกับเส้นเลือดขอดที่แขน
สังเกตไหมว่า คุณตาคุณยายมักจะมีเส้นเลือดขอดที่มือและแขน นั่นหมายความว่าการที่อายุมาก ๆ ก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เลือดไหลเวียนช้าลง จึงเกิดอาการเส้นเลือดขอดตามแขนและหลังมือนั่นเองค่ะ
5. อาชีพและการใช้ชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่ต้องยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน หรืออาชีพที่ต้องเดินบ่อย ร่วมกับการสวมรองเท้าส้นสูง ก็เป็นปัจจัยร่วมสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดได้เช่นกันค่ะ
เส้นเลือดขอด อันตรายไหมระหว่างท้อง ?
การที่คุณแม่ท้องเกิดเส้นเลือดขอด ไม่ใช่เรื่องที่เป็นอันตรายแต่อย่างใดค่ะ เพียงแต่อาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไรนัก เช่น หนักหรือถ่วงบริเวณขา น่อง เป็นต้น แต่หากแม่ท้องที่เป็นเลือดขอดมาก ๆ มีอาการปวดมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ลดอาการปวดอย่างถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่ควรซื้อยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบมากินเองนะคะ
เส้นเลือดขอดตอนท้อง เป็นเรื่องธรรมชาติจริงหรือไม่
โดยส่วนใหญ่แล้วในแม่ตั้งครรภ์ มักเกิดเส้นเลือดขอดร่วมกับอาการเท้าบวม เพราะร่างกายจะเริ่มมีปัญหาแรงดันส่งเลือดดำไม่สะดวก เลือดเลยอุดตันเป็นลักษณะโป่งพอง เห็นเป็นเส้นเลือดขอดอยู่ตามผิวหนังชั้นนอก และกลายเป็นเส้นเลือดขอด ซึ่งการรักษาเส้นเลือดขอด ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาหรือเทคโนโลยีแต่อย่างใดค่ะ เพราะหลังคลอดอาการเหล่านี้จะค่อยบรรเทาลง หรือหายไปได้เองในคนที่เป็นน้อย แต่คนที่เป็นมากอาจจะไม่จางหายไปเอง ก็สามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้หลังคลอดแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจพบ เมื่อแม่ท้องเป็นเส้นเลือดขอด
- ยิ่งแม่ตั้งครรภ์อายุมาก ยิ่งเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดขอดมาก
- เส้นเลือดขอดฝอย ๆ จะปรากฏชัดเจนบริเวณเข่า หลังต้นขา
- แม่ท้องจะมีเส้นเลือดขอดมากขึ้น บริเวณหลังเท้า ข้อเท้า หากสวมรองเท้าไม่เหมาะสม
- เส้นเลือดขอดอาจเกิดบริเวณใบหน้าได้ เส้นเลือดฝอยแตกสาขาย่อยไปเรื่อย ๆ ทำให้บริเวณกรามมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม
การป้องกันเส้นเลือดขอดตอนท้อง
- แม่ท้องควรปรับท่านั่ง ยืน เดิน ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เช่น ไม่นั่ง ยิน เดิน หรือนั่งห้อยขานาน ๆ ควรขยับตัวเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่าอยู่เสมอ
- ตอนนอนควรเท้าสูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้หมอนรองเท้าไว้ตอนนอน
- ถ้าเริ่มเป็นเส้นเลือดขอด อาจใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดพันรอบขาไว้ จะช่วยลดการเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น
- แช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาที จะช่วยลดอาการเท้าบวม ระบบไหลเวียนโลหิตดี ช่วยลดการเกิดเส้นเลือดขอดได้
- หากเส้นเลือดขอดมีอาการปวดร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ ซึ่งอาจจะต้องบรรเทาอาการปวดเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดยา
- กรณีที่หลังคลอดแล้วเส้นเลือดขอดไม่หาย และยังปวดมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเส้นเลือดขอด
หลังคลอดลูกแล้ว เส้นเลือดขอดจะหายไหม
โดยปกติแล้ว หลังคลอดลูกแล้วเส้นเลือดขอดที่เป็นจะค่อย ๆ จางไปเองค่ะ แต่ในบางกรณีเป็นมากและไม่จางหาย หรือจางน้อยมาก มีอาการปวด แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้หลังตลอดไปแล้ว 2-3 เดือน
โดยปกติแล้วหากอาการเส้นเลือดขอดจะน่าห่วง ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดควรทำเมื่อผ่านช่วงคลอดไปแล้ว 2-3 เดือน เพื่อที่จะไม่กระทบต่อทั้งแม่และทารกน้อยที่ยังไม่หย่านมค่ะ
วิธีรักษาเส้นเลือดขอดสำหรับคนท้อง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้ช่วงขาแข็งแรง กล้ามเนื้อจะได้มีแรงบีบส่งแรงดันเลือดดำกลับไปฟอกที่ร่างกายส่วนบนได้ตามปกติ ในช่วงที่อายุครรภ์มากขึ้น ออกกำลังกายไม่ค่อยสะดวก แนะนำให้ใช้วิธีเดินในน้ำ แรงต้านของน้ำจะทำให้ได้ออกแรงมากขึ้นแต่ร่างกายไม่หักโหม
- ไม่ยืนทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานานเกินไป เช่น รีดผ้า ทำกับข้าว พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เป็นเดินไปมา หรือลงนั่งสลับบ้าง ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อน่องอยู่เสมอ
- เวลานั่งนานก็ควรลุกขึ้นเปลี่ยนท่าทางบ้าง และไม่นั่งไขว่ห้าง
- ยกขาขึ้นสูงในระดับเสมอกับลำตัวขณะพักผ่อนในท่าสบาย ๆ และจะดีมากถ้ายกขาให้ขึ้นเสมอระดับหัวใจได้
- รักษาระดับน้ำหนักตัว ไม่ให้ขึ้นมากเกินกำหนด
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก ๆ ป้องกันอาการท้องผูกซึ่ง เพราะช่วงนี้อาจทำให้เป็นริดสีดวงได้ง่าย
- นอนตะแคง น้ำหนักจะได้ไม่กดทับเส้นเลือด
- สวมผ้ายืดพยุงกล้ามเนื้อที่ขา
- อย่ารับประทานอาหารเค็มจัด
- ใส่รองเท้าที่โปร่งสบาย จะได้ไม่คับในช่วงเย็นหรือเมื่อยืนเดินมาทั้งวัน
อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพทั้งภายในภายนอก คุณแม่ที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองไว้ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง หลังตั้งครรภ์ให้เป็นนิสัย เพื่อป้องกันและลดอาการของภาวะต่าง ๆ ที่น่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดขอดอย่างที่กล่าวมา ปัญหาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน อีกทั้งต้องดูแลเรื่องโภชนาการเพื่อตัวคุณแม่เองและเพื่อส่งต่อให้ลูกน้อยของคุณแม่ด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคโลหิตจาง รับมืออย่างไรให้ปลอดภัย ถ้าเป็นระหว่างตั้งครรภ์
โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา