ท้องที่เริ่มโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายของคุณแม่เองต้องรับบทบาทที่เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จะมีอะไรที่เกิดขึ้นกับตัวทารกในขณะที่คุณแม่ ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ บ้าง และมีอะไรที่คุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการตั้งครรภ์ในช่วงเวลานี้
ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
เป็นคำถามที่มักจะพบว่า ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ นั้นจะเท่ากับกี่เดือน คำตอบก็คือครรภ์ของคุณแม่อยู่ในช่วง 8 เดือนนั่นเองค่ะ เพราะในบางครั้ง เพื่อนบ้าน คนในครอบครัว และคุณหมอ ก็มักจะใช้คำ หรือใช้เกณฑ์ในการวัดอายุครรภ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งการนับเป็นรายสัปดาห์นั้น จะทำให้เราสามารถติดตามผลได้อย่างใกล้ชิดแบบสัปดาห์ ต่อสัปดาห์ จึงเป็นที่นิยมใช้กับการดูแลครรภ์ของคุณแม่มากกว่า
ทารกในครรภ์ 33 สัปดาห์ มีขนาดตัวเท่าใด
สำหรับตัวทารกที่อยู่ในครรภ์อายุ 33 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 2 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัวอยู่ที่ 18 – 19 นิ้ว หรือมีขนาดเท่าสับปะรดหนึ่งผล และสามารถยืดลำตัวได้ยาวขึ้นอีก 1 นิ้ว ในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บท้องคลอด สัญญาณเตือนที่คุณแม่หลายคนควรรู้!
พัฒนาการของทารกในครรภ์ 33 สัปดาห์ มีอะไรบ้าง
ในช่วงอายุครรภ์นี้ เด็กจะมีการพัฒนาร่างกาย และระบบภายในที่รวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของสมอง กระดูก โครงสร้างร่างกาย รวมถึงเส้นประสาทต่าง ๆ ดังนี้
- ระบบประสาทส่วนกลางของทารก มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เส้นใยประสาทจะถึงห่อหุ้มด้วยไขมัน มีการแผ่กิ่งก้านสาขาในเส้นประสาท เพื่อเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายของระบบประสาททั่วทั้งร่างกาย
- ในส่วนของมวลกระดูกโดยรวมของทารกจะเริ่มแข็งตัวขึ้น ยกเว้นส่วนของกะโหลกที่ยังมีความอ่อนนุ่ม และยืดหยุ่น เพื่อสามารถออกจากช่องคลอดได้ (Birth canal)
- จากเดิมที่ทารกได้รับสารภูมิต้านทานจากคุณแม่ผ่านทางรก (Placenta) ทารกจะพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมในการออกมาเผชิญสู่โลกใบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์
- ผมของทารกจะเริ่มดก หนาขึ้น ขนอ่อนเก่า ๆ จะเริ่มร่วงหล่นไป พร้อมกับสร้างขนชุดใหม่ที่หนาขึ้นเพื่อปกคลุมไขเคลือบผิวหนัง
- ผิวของทารกมีความแดงลดน้อยลง และมีความเนียนมากยิ่งขึ้นจากไขมันที่เริ่มเข้ามาสะสมภายใต้ผิวหนัง
- ร่างกายของเด็กจะเริ่มมีการหายใจด้วยตัวเอง เนื่องจากปอดของพวกเขาจะอยู่ในช่วงเจริญเติบโตเต็มที่
- นัยน์ตาของทารกจะเริ่มปรับให้เข้ากับแสงสว่างหรือความมืดได้แล้ว
- หากคุณแม่อัลตราซาวนด์ในช่วงนี้ อาจจะพบว่าลูกของคุณลืมตาอยู่ได้ด้วยเช่นกัน
- แม้ว่าปริมาณน้ำคร่ำจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ตัวของทารกจะโตขึ้นเรื่อย ๆ และดิ้นแรงน้อยลง เนื่องจากพื้นที่ในการขยับมีน้อยลงนั่นเอง แต่ความถี่ในการดิ้นนั้น ยังไม่เปลี่ยนแปลง
บทความที่เกี่ยวข้อง : โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?
อาการของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์นั้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้น และรวดเร็วกว่าเดิม เป็นเพราะทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโต และพัฒนาร่างกายของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมในการออกมาเผชิญกับโลกใบใหม่ของเขา ทำให้คุณแม่จะเกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้ตามมา
- ร่างกายเปราะบาง
เนื่องด้วยการแบ่งปันปริมาณแคลเซียม และสารอาหารต่าง ๆ ของคุณแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์ ทำให้มวลกระดูกของคุณแม่เกิดความเปราะบาง ดังนั้นในระยะนี้ จะสังเกตได้ว่า เล็บแม้จะยาวเร็วขึ้น แต่ก็จะเปราะ และแตกง่ายกว่าปกติ
- ปวดหลัง
เป็นเพราะการขยายตัว และน้ำหนักตัว ที่เพิ่มมากขึ้นของลูก รวมถึงการขยายใหญ่ของหน้าท้องอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ก็จะเหมือนกับคุณแม่จะต้องรับน้ำหนักดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย ดังนั้น การยืดเส้น ออกกำลังกาย เช่น โยคะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จะช่วงผ่อนคลายอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
- อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ
คุณแม่จะรู้สึกไม่สบายตัว หรือรู้สึกร่างกายร้อน มีเหงื่อออกง่าย และออกเยอะมากกว่าปกติ เนื่องจากมีอัตราการเผาผลาญที่สูงขึ้นอย่างมาก
- หายใจไม่อิ่ม
ในขณะที่อัตราการหายใจเท่าเดิม แต่มีปอดเพิ่มมากขึ้นทั้งของคุณแม่ และของคุณลูก ทำให้การหายใจของคุณแม่นั้นจะไม่รู้สึกหายใจอิ่มเหมือนเช่นเดิม แต่อาการนี้ จะเกิดมาขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว เป็นผลให้คุณแม่หลาย ๆ คนเริ่มชิน และพยายามปรับอิริยาบถต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กับลมหายใจ
- ปวดหัว
ผลจากการผันผวนของฮอร์โมน ทำให้อาการปวดหัวมักจะเกิดขึ้น ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นคล้ายกับเวลาที่คุณเครียด และขาดน้ำ ดังนั้นหากมีอาการปวดหัวเกิดขึ้น การทำใจให้สบาย และดื่มน้ำตามมาก ๆ แม้จะทำให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าเดิม แต่จะช่วยอาการปวดหัวของคุณลดลงได้
- ขี้หลงขี้ลืม
อาการนี้หลายคนจะรู้จักในชื่อ “Baby Brain” เป็นการเปลี่ยนทางร่างกาย ที่เกิดจากความเครียด และความกังวลเกี่ยวกับลูกที่กำลังจะเกิดมาดูโลกในอีกไม่นาน ทำให้คุณแม่ในช่วงนี้มีการพักผ่อนน้อย คิดฟุ้งซ่าน เหนื่อยล้า ทำให้เกิดอาการขี้หลงขี้ลืม สมาธิสั้น
- หน้าท้องแตกลาย
เพราะทารกในครรภ์เริ่มมีการขยายตัวอย่างเต็มที่ ทำให้หน้าท้องของคุณแม่นั้นจะต้องขยายตัวตามขนาดของทารก จึงส่งผลทำให้เกิดอาการแตกลาย ทั้งรอยดำ และรอยแดง ซึ่งคุณแม่ควรหมั่นบำรุงผิวบริเวณหน้าท้องเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นรอยติดตัวไป จนสร้างความไม่มั่นใจให้กับตัวคุณแม่หลังจากคลอดลูกไปแล้วนั่นเอง
- เส้นลายสีดำเกิดขึ้น
เป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำหรับครรภ์ที่ใกล้ครบกำหนดคลอดนั่นก็คือ เส้นลายสีดำ (Linea Nigra) ที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสี โดยคุณแม่เอง จะสังเกตเห็นเส้นสีดำบนท้องเหมือนถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คุณแม่บางคนอาจรู้สึกเจ็บบริเวณสะดือ หรือคันรอบสะดือ ซึ่งอาการเหล่านี้จะลดลง และรอยดำจะเริ่มจางหายไปเองหลายจากคลอดเจ้าตัวน้อยภายในไม่กี่สัปดาห์
สารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ ควรได้รับ
เป็นเพราะร่างกายมีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น การเลือกทานอาหารที่มีไบโอติน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะพบไบโอตินนี้ได้จาก กล้วย อะโวคาโด ถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น ทั้งนี้อาหารต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารจำเป็นอย่างมากในช่วงนี้ หากคุณแม่ที่มีความกังวลในเรื่องของน้ำหนักตัว อยากแนะนำให้ลืมไปก่อน เพราะไม่ควรอดอาหารในระยะนี้ แม้ว่าจะน้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มสูงมากแค่ไหนก็ตาม แต่มันจะค่อย ๆ ลดลงเองหลังจากที่คลอดลูก และให้นมบุตร
อย่างไรก็ตามในระยะนี้ คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการบีบรัดที่ท้องอยู่บ่อยครั้ง หรือที่เรียกว่า “การเจ็บครรภ์หลอก” (Braxton hicks) ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมของร่างกายเพื่อเข้าสู่การคลอดที่แท้จริง ดังนั้นหากคุณแม่เริ่มมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อเตรียมพร้อมในการกำหนดคลอด หรือป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในท้องที่คุณแม่ต้องรู้!
แม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ไตรมาส 3 กับภาวะเหนื่อยล้าจากขนาดครรภ์
8 อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง แม่ท้องกินแล้วดีมีประโยชน์ต่อลูกในครรภ์