เรียกได้ว่าผู้หญิงหลายคน อาจจะเคยเจอกับปัญหา ประจำเดือนผิดปกติ ที่ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่บางครั้งก็มักจะมองข้ามไป เพราะส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า ช่วงเวลาที่มีประจำเดือน เป็นช่วงที่ยุ่งยากและน่าหงุดหงิดเป็นที่สุด แต่เมื่อไรที่ละเลยและไม่ได้ใส่ใจในความเปลี่ยนแปลง อาจตามมาด้วยปัญหาอีกมาก
บอกตามตรงค่ะ ว่าบรรดาอาการผิดปกติทั้งหลาย เป็นหนึ่งในอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นการเตือนถึงโรคร้าย ที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของเราก็ได้ เพื่อไม่ให้สายเกินแก้ วันนี้ Mamastory มีสัญญาณของประจำเดือนผิดปกติมาฝาก และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการประจำเดือนผิดปกติ มาทำความรู้จักและเข้าใจภาวะเหล่านี้กันค่ะ
ประจำเดือนคืออะไร ?
ประจำเดือน หรือชื่อภาษาอังกฤษ Menstruation คือ การที่มีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน เป็นอาการแสดงความพร้อมของร่างกาย เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยประจำเดือนหรือเลือดเสีย เกิดจากการที่สมองหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น หรือเป็นการให้ร่างกายเตรียมตัว เพื่อรอรับการฝังตัวของตัวอ่อน
ซึ่งในตลอดเดือนนั้น จะเกิดขึ้นโดยปกติ 1 ครั้ง และในแต่ละเดือน จะมีไข่ตกเดือนละ 1 ฟอง ซึ่งหากคุณผู้หญิงไม่ได้มีการมีเพศสัมพันธ์เพื่อตั้งครรภ์ หรือไม่มีการปฏิสนธิของตัวอ่อน เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเกิดเป็นประจำเดือน จากการหลุดลอกออกมาผ่านทางช่องคลอด
ประจำเดือนปกติเป็นอย่างไร ?
- โดยส่วนใหญ่ประจำเดือนจะมาทุก 21-35 วัน
- ประจำเดือนที่ปกติ จะมา 3-5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน
- ปริมาณประจำเดือนไม่ควรเกิน 80 ซีซี หรือเทียบกับการเปลี่ยนผ้าอนามัย แบบที่มีเลือดเต็มแผ่น 4 ครั้งต่อวัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝุ่น PM2.5 แม่ท้องและทารกเสี่ยงหนัก เมื่ออยู่กลางแจ้ง ต้องระวัง!
สาเหตุที่ประจำเดือนผิดปกติ
- อาจเกิดได้จากความเครียด หรือความวิตกกังวล
- อาหารที่ทาน หรือการเพิ่มน้ำหนัก ก็มีส่วน
- การรับประทานยาคุมที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้มาไม่ตรงเวลา
- การตั้งครรภ์
- มีเนื้องอกในมดลูก
- โรคถุงน้ำในรังไข่ PCOS
- อายุเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
ประจำเดือนผิดปกติ บอกปัญหาอะไรได้บ้าง ?
1. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS)
เรียกได้ว่าเป็นความผิดปกติ ที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงอายุ 18-45 ปี เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ที่เกิดจากฮอร์โมนหลายตำแหน่ง ทำให้มีปัญหาเรื่องประจำเดือน มาช้าบ้าง ไม่ตรงเวลาบ้าง บางรายอาจจะประจำเดือนขาดนานเกิน 3 เดือน โดยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ก็เป็นได้
2. รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
สำหรับผู้ที่พบปัญหานี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน อาจมีการทิ้งช่วงนานกว่าปกติ โดยอาจใช้เวลาเกือบ 40-55 วัน เพื่อให้ประจำเดือนรอบต่อไปมา บางรายอาจจะมีปริมาณประจำเดือนลดลง จนถึงไม่มีประจำเดือนเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิดหรือโมโหง่าย ช่องคลอดแห้ง แสบเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจพบปัญหารังไข่เสื่อมก่อนกำหนดในอนาคตได้ เบื้องต้นสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมนแทนได้
3. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Chronic Anovulation)
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เป็นหนึ่งในความผิดปกติของประจำเดือนที่สามารถพบได้บ่อย โดยเกิดจากการทำงานของรังไข่ ที่ทำให้การเติบโดตชะงัก หรือสูญเสียกลไกการควบคุมการเจริญเติบโตของรังไข่ ซึ่งอาจทำให้ขาดประจำเดือน สิวขึ้น หรือผิวมันขึ้นกว่าเดิม ในอนาคตอาจเสี่ยงเรื่องความมีบุตรยาก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะยาว โดยอาจพบรูปแบบความผิดปกติได้หลายแบบ เช่น ระยะระหว่างรอบประจำเดือนยาวนาน , ขาดประจำเดือน, มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ, กะปริบกะปรอยไม่เป็นรอบ
นอกจากนี้การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น ภาวะมีบุตรยากในอนาคต หรือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโพรงมดลูก เนื่องจากทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษาให้ถูกวิธี ดังนั้นหากพบปัญหาเรื่องประจำเดือน ที่มาผิดปกติ เช่น นาน ๆ มาที, มามาก, มาน้อย หรือมานานกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ควรรีบรับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนจะดีที่สุด
สัญญาณเตือนอันตรายของผู้หญิง
- รอบเดือนมาผิดปกติ ไม่ตรงตามกำหนด
- ระบบขับถ่ายผิดปกติ ทั้งปัสสาวะและอุจจาระ
- ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการปวดหลัง รวมถึงการปวดท้อง ขณะมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมาเยอะ และใช้เวลานานกว่า 7 วันขึ้นไป
- ปวดหลังส่วนล่างอย่างรุนแรง เวลาที่เป็นประจำเดือน
- ลิ่มเลือดประจำเดือนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
- มีหยดเลือดออกมา ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- ประจำเดือนมีกลิ่นเหม็นคาวมากกว่าปกติ แม้จะเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย
การรักษาประจำเดือนผิดปกติ
- กินยาปรับฮอร์โมน เพื่อให้ร่างกายมีรอบเดือนสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ตรวจหาความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันสูง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การนอน การดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก
- สำหรับผู้ที่อยากมีบุตร อาจต้องกินยากระตุ้นรังไข่ เพื่อให้ร่างกายเป็นปกติ
วิธีดูแลสุขภาพเมื่อประจำเดือนผิดปกติ
- ลดภาวะเครียด พยายามพักผ่อน ให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกผ่อนคลาย
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยปรับให้แต่ละมื้ออาหารมีความเหมาะสม
- รักษาน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เป็นประจำ ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
นอกจากเรื่องประจำเดือนแล้ว ความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ยังส่งผลกระทบทั้งดีและไม่ดี ต่อสุขภาพในอีกหลาย ๆ ด้านของร่างกาย การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ที่อาจเกิดจากสาเหตุของระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล จะส่งผลให้เกิดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกในร่างกาย ที่มีปริมาณมากเกินไป ทำให้มีเลือดประจำเดือนมาก เมื่อเกิดอาการแบบนี้ขึ้นกับตัว การรีบไปหาหมอเพื่อรับคำปรึกษาในการรักษา จะช่วยในการปรับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทางเพศ ควรรีบไปหาหมอโดยทันที อย่าปล่อยไว้เพราะความอาย การไปหาหมอเพราะการป่วย ถึงแม้บางครั้งอาจจะต้องตรวจภายใน แต่ก็เป็นการป้องกันอันตราย ที่ได้ผลดีที่สุดแก่ตัวผู้ป่วย นอกจากนั้นการตรวจภายในทุก 1 ปี จะช่วยให้รู้จักร่างกายของตัวเองได้มากขึ้นค่ะ !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
หมอนัดตรวจครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญไหม จำเป็นต้องไปให้ครบนัดหรือเปล่า ?
ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน ?
โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?
ที่มา : 1