ประจำเดือนผิดปกติ เรื่องใกล้ตัวที่ห้ามมองข้าม สัญญาณบอกอันตราย !

เรียกได้ว่าผู้หญิงหลายคน อาจจะเคยเจอกับปัญหา ประจำเดือนผิดปกติ ที่ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่บางครั้งก็มักจะมองข้ามไป เพราะส่วนใหญ่มัก 

 1266 views

เรียกได้ว่าผู้หญิงหลายคน อาจจะเคยเจอกับปัญหา ประจำเดือนผิดปกติ ที่ประจำเดือนมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่บางครั้งก็มักจะมองข้ามไป เพราะส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า ช่วงเวลาที่มีประจำเดือน เป็นช่วงที่ยุ่งยากและน่าหงุดหงิดเป็นที่สุด แต่เมื่อไรที่ละเลยและไม่ได้ใส่ใจในความเปลี่ยนแปลง อาจตามมาด้วยปัญหาอีกมาก



บอกตามตรงค่ะ ว่าบรรดาอาการผิดปกติทั้งหลาย เป็นหนึ่งในอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นการเตือนถึงโรคร้าย ที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของเราก็ได้ เพื่อไม่ให้สายเกินแก้ วันนี้ Mamastory มีสัญญาณของประจำเดือนผิดปกติมาฝาก และสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการประจำเดือนผิดปกติ มาทำความรู้จักและเข้าใจภาวะเหล่านี้กันค่ะ



ประจำเดือนคืออะไร ?

ประจำเดือน หรือชื่อภาษาอังกฤษ Menstruation คือ การที่มีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน เป็นอาการแสดงความพร้อมของร่างกาย เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยประจำเดือนหรือเลือดเสีย เกิดจากการที่สมองหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น หรือเป็นการให้ร่างกายเตรียมตัว เพื่อรอรับการฝังตัวของตัวอ่อน

ซึ่งในตลอดเดือนนั้น จะเกิดขึ้นโดยปกติ 1 ครั้ง และในแต่ละเดือน จะมีไข่ตกเดือนละ 1 ฟอง ซึ่งหากคุณผู้หญิงไม่ได้มีการมีเพศสัมพันธ์เพื่อตั้งครรภ์ หรือไม่มีการปฏิสนธิของตัวอ่อน เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเกิดเป็นประจำเดือน จากการหลุดลอกออกมาผ่านทางช่องคลอด


ประจำเดือนผิดปกติ



ประจำเดือนปกติเป็นอย่างไร ?

  • โดยส่วนใหญ่ประจำเดือนจะมาทุก 21-35 วัน
  • ประจำเดือนที่ปกติ จะมา 3-5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน
  • ปริมาณประจำเดือนไม่ควรเกิน 80 ซีซี หรือเทียบกับการเปลี่ยนผ้าอนามัย แบบที่มีเลือดเต็มแผ่น 4 ครั้งต่อวัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝุ่น PM2.5 แม่ท้องและทารกเสี่ยงหนัก เมื่ออยู่กลางแจ้ง ต้องระวัง!



สาเหตุที่ประจำเดือนผิดปกติ

  1. อาจเกิดได้จากความเครียด หรือความวิตกกังวล
  2. อาหารที่ทาน หรือการเพิ่มน้ำหนัก ก็มีส่วน
  3. การรับประทานยาคุมที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้มาไม่ตรงเวลา
  4. การตั้งครรภ์
  5. มีเนื้องอกในมดลูก
  6. โรคถุงน้ำในรังไข่ PCOS
  7. อายุเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน



ประจำเดือนผิดปกติ



ประจำเดือนผิดปกติ บอกปัญหาอะไรได้บ้าง ?

1. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS) 

เรียกได้ว่าเป็นความผิดปกติ ที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงอายุ 18-45 ปี เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ที่เกิดจากฮอร์โมนหลายตำแหน่ง ทำให้มีปัญหาเรื่องประจำเดือน มาช้าบ้าง ไม่ตรงเวลาบ้าง บางรายอาจจะประจำเดือนขาดนานเกิน 3 เดือน โดยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ก็เป็นได้



2. รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด 

สำหรับผู้ที่พบปัญหานี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน อาจมีการทิ้งช่วงนานกว่าปกติ โดยอาจใช้เวลาเกือบ 40-55 วัน เพื่อให้ประจำเดือนรอบต่อไปมา บางรายอาจจะมีปริมาณประจำเดือนลดลง จนถึงไม่มีประจำเดือนเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิดหรือโมโหง่าย ช่องคลอดแห้ง แสบเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจพบปัญหารังไข่เสื่อมก่อนกำหนดในอนาคตได้ เบื้องต้นสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมนแทนได้


3. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Chronic Anovulation)

ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เป็นหนึ่งในความผิดปกติของประจำเดือนที่สามารถพบได้บ่อย โดยเกิดจากการทำงานของรังไข่ ที่ทำให้การเติบโดตชะงัก หรือสูญเสียกลไกการควบคุมการเจริญเติบโตของรังไข่ ซึ่งอาจทำให้ขาดประจำเดือน สิวขึ้น หรือผิวมันขึ้นกว่าเดิม ในอนาคตอาจเสี่ยงเรื่องความมีบุตรยาก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะยาว โดยอาจพบรูปแบบความผิดปกติได้หลายแบบ เช่น ระยะระหว่างรอบประจำเดือนยาวนาน , ขาดประจำเดือน, มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ, กะปริบกะปรอยไม่เป็นรอบ



นอกจากนี้การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น ภาวะมีบุตรยากในอนาคต หรือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโพรงมดลูก เนื่องจากทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษาให้ถูกวิธี ดังนั้นหากพบปัญหาเรื่องประจำเดือน ที่มาผิดปกติ เช่น นาน ๆ มาที, มามาก, มาน้อย หรือมานานกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ควรรีบรับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนจะดีที่สุด



ประจำเดือนผิดปกติ



สัญญาณเตือนอันตรายของผู้หญิง

  1. รอบเดือนมาผิดปกติ ไม่ตรงตามกำหนด
  2. ระบบขับถ่ายผิดปกติ ทั้งปัสสาวะและอุจจาระ
  3. ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการปวดหลัง รวมถึงการปวดท้อง ขณะมีเพศสัมพันธ์
  4. ประจำเดือนมาเยอะ และใช้เวลานานกว่า 7 วันขึ้นไป
  5. ปวดหลังส่วนล่างอย่างรุนแรง เวลาที่เป็นประจำเดือน
  6. ลิ่มเลือดประจำเดือนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
  7. มีหยดเลือดออกมา ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  8. ประจำเดือนมีกลิ่นเหม็นคาวมากกว่าปกติ แม้จะเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย



การรักษาประจำเดือนผิดปกติ

  1. กินยาปรับฮอร์โมน เพื่อให้ร่างกายมีรอบเดือนสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  2. ตรวจหาความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันสูง
  3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การนอน การดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก
  4. สำหรับผู้ที่อยากมีบุตร อาจต้องกินยากระตุ้นรังไข่ เพื่อให้ร่างกายเป็นปกติ



วิธีดูแลสุขภาพเมื่อประจำเดือนผิดปกติ

  • ลดภาวะเครียด พยายามพักผ่อน ให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกผ่อนคลาย
  • เลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยปรับให้แต่ละมื้ออาหารมีความเหมาะสม
  • รักษาน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เป็นประจำ ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น



นอกจากเรื่องประจำเดือนแล้ว ความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ยังส่งผลกระทบทั้งดีและไม่ดี ต่อสุขภาพในอีกหลาย ๆ ด้านของร่างกาย การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ที่อาจเกิดจากสาเหตุของระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล จะส่งผลให้เกิดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกในร่างกาย ที่มีปริมาณมากเกินไป ทำให้มีเลือดประจำเดือนมาก เมื่อเกิดอาการแบบนี้ขึ้นกับตัว การรีบไปหาหมอเพื่อรับคำปรึกษาในการรักษา จะช่วยในการปรับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง



ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทางเพศ ควรรีบไปหาหมอโดยทันที อย่าปล่อยไว้เพราะความอาย การไปหาหมอเพราะการป่วย ถึงแม้บางครั้งอาจจะต้องตรวจภายใน แต่ก็เป็นการป้องกันอันตราย ที่ได้ผลดีที่สุดแก่ตัวผู้ป่วย นอกจากนั้นการตรวจภายในทุก 1 ปี จะช่วยให้รู้จักร่างกายของตัวเองได้มากขึ้นค่ะ !



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

หมอนัดตรวจครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญไหม จำเป็นต้องไปให้ครบนัดหรือเปล่า ?

ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน ?

โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?

ที่มา : 1