ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่กันก่อนเลยนะคะ คุณแม่หลายท่านต้องกำลังตื่นเต้นกับการมีลูกน้อยที่จะได้เจอกันในอีก 9 เดือนข้างหน้าอย่างแ 

 1639 views

ต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่กันก่อนเลยนะคะ คุณแม่หลายท่านต้องกำลังตื่นเต้นกับการมีลูกน้อยที่จะได้เจอกันในอีก 9 เดือนข้างหน้าอย่างแน่นอน! เราจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ ในสัปดาห์ที่สอง ข้อมูลความรู้ ข้อควรปฏิบัติของคุณแม่ ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย

ย้อนกลับไปอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ได้ที่: ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

ท้อง 2 สัปดาห์นับอย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การที่จะเริ่มนับว่าตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ หรือท้องได้กี่สัปดาห์แล้ว ทางสูตินรีแพทย์นั้น เริ่มนับการตั้งครรภ์ตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ซึ่งจะถูกประเมินว่า เป็น 1 หรือ 2 สัปดาห์ก่อนที่คุณแม่จะตั้งท้องนั่นเองค่ะ

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ก็ยังไม่ถือว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ดี แต่เป็นช่วงเวลานาทีทองที่จะสามารถเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงของการตกไข่ (Ovulation) หากมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงที่ไข่ตกพอดี เชื้ออสุจิก็จะมีโอกาสได้พบกับไข่และเกิดการปฏิสนธิ จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ในที่สุด โดยมีข้อควรรู้เกี่ยวกับการตกไข่ที่มีประโยชน์ในการวางแผนตั้งครรภ์ ดังนี้

  • ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน นับจากวันแรกที่มีประจำเดือน หรืออาจจะเร็วกว่าหรือช้ากว่านี้เล็กน้อย จะเป็นช่วงที่รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกออกมาตามท่อนำไข่ เพื่อรอรับการปฏิสนธิ
  • วันที่ไข่ตกอาจไม่ใช่วันเดียวกันในแต่ละเดือน
  • ไข่ที่ถูกปล่อยออกจากรังไข่แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 12-24 ชั่วโมงหลังการตกไข่ หากระหว่างนี้คุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิด ไข่ก็จะผสมกับเชื้ออสุจิและเกิดการปฏิสนธิกันได้
  • ตามปกติ ไข่จะถูกปล่อยออกมาเพียง 1 ใบเท่านั้นในช่วงการตกไข่
  • ช่วงเวลาการตกไข่ สามารถคลาดเคลื่อนได้ หรืออาจไม่มีไข่ถูกปล่อยออกมาเลยก็ได้ โดยอาจได้รับผลกระทบจากความเครียด ความเจ็บป่วย การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย และแม้กระทั่งการนอนหลับ
  • ในบางกรณี อาจพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไข่ตก แต่ไม่ใช่ประจำเดือน แม้จะไม่ได้พบในผู้หญิงทุกคน แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นอันตราย

ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์



พัฒนาการทารกในครรภ์ อายุครรภ์ 2 สัปดาห์

ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ ขนาดของทารกยังคงเป็นตัวอ่อน อยู่ในช่วงเริ่มพัฒนาอวัยวะสำคัญทั้งหมด ในตอนนี้เพศของลูก ถูกกำหนดด้วยโครโมโซม 2 แท่ง จาก 46 แท่ง ซึ่งประกอบกันเป็นลักษณะทางพันธุกรรมของลูก โครโมโซมทั้งสองมาจากไข่และอสุจิฝ่ายละ 1 แท่ง ไข่มีโครโมโซมเอกซ์ แต่อสุจิมีโครโมโซมเอกซ์หรือวาย

ถ้าอสุจิที่มีโครโมโซมเอกซ์ปฏิสนธิกับไข่ คุณจะได้ลูกสาว ถ้าอสุจิมีโครโมโซมวาย คุณจะได้ลูกชาย เพราะฉะนั้นพ่อจึงเป็นคนกำหนดเพศของลูก

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องห้ามทำอะไรบ้าง

อายุครรภ์ 2 สัปดาห์คุณแม่เปลี่ยนแปลงอย่างไร

การตกไข่มักเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป 14 วัน ดังนั้นถ้ามีรอบเดือนประจำเดือน 28 วัน วันที่ 14 คือวันที่น่าจะตั้งครรภ์มากที่สุดในวันนี้หรือวันอื่นที่ไข่ตก (ตามระยะเวลาของรอบประจำเดือนของคุณ) ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

เนื่องจากการตกไข่มักเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14 ถ้าประจำเดือนขาดไปหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ มักบ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์ ตามปกติแล้วการตั้งครรภ์จะนับจากวันแรกของรอบเดือนครั้งสุดท้ายของคุณ อย่างไรก็ตามถ้ากล่าวว่าคุณตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ (นั่นคือหลังจากรอบประจำเดือนครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์) อายุของทารกในครรภ์และระยะเวลาตั้งครรภ์จริงจะเท่ากับ 2 สัปดาห์เท่านั้น

สิ่งที่ควรทำในการตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 2

  • มองหาสัญญาณที่บอกว่าตกไข่
  • มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวัน เมื่อใกล้ช่วงไข่ตก
  • กินวิตามินที่สามารถช่วยในเรื่องของการตั้งครรภ์ ร่วมกับกรดโฟลิกทุกวัน

อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 2

  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ
  • หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน
  • รับประทานอาหารมากขึ้น
  • ท้องอืดบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
  • ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
  • มีตกขาว แต่ถ้าตกขาวมีกลิ่นและสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจาง ๆ หรือน้ำตาล ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์



อาหารบำรุงครรภ์ สำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 2 สัปดาห์

หลายคนเชื่อว่าเป็นช่วงอายุครรภ์กำหนดเพศลูกได้ นอกจากเลือกช่วงเวลาในการร่วมเพศแล้วโภชนาการก็มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จใน การเลือกเพศให้ลูกเช่นกัน อาหารของแม่ตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความหลากหลาย ปริมาณพอเหมาะ และมีความสมดุล โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ 1-3 เดือนแรก คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง ซึ่งมีความจำเป็นกับทารกเพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ และสร้างเซลล์สมอง

สำหรับอาหารที่ควรงดและหลีกเลี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คืออาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส อาหารรสจัด โดยเฉพาะหวานจัด อาหารไขมันสูง ทั้งนี้ยังควรงดการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ด้วย

อาหารที่ควรรับประทานเพิ่มขึ้น

  • โปรตีน : ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่หลากหลาย เน้นโปรตีนจากปลา เต้าหู้ ไข่ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว
  • วิตามิน : การเพิ่มวิตามินจากอาหาร จะช่วยให้ร่างกายมีความสมดุลและเพิ่มความแข็งแรง รวมถึงเสริมสร้างพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ สำหรับการรับประทานวิตามินเสริมควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เพิ่ม
  • แร่ธาตุต่าง ๆ : โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทั้งของคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อแดง ไข่แดง และนม
  • โฟเลต : มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาท หากทารกขาดโฟเลตอาจเกิดภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด หรือไขสันหลังไม่ปิด และแนะนำให้รับประทานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน โฟเลตมีมากในผักใบเขียว ถั่วเหลือง ส้ม กล้วย และนมเสริมโฟเลต
  • แคลเซียม : จำเป็นในการพัฒนาการสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งรับประทานได้จากนม และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กระดูกอ่อน ปลาเล็กปลาน้อย รวมถึงการรับประทานยาเม็ดแคลเซียม
  • น้ำ : ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่มีความต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาอาการท้องผูก และป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก

เคล็ดลับการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์

ในช่วงเวลาตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ต้องดูกันเป็นพิเศษ เพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยอย่างสมบูรณ์ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง อาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ โดยการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงนี้นั้น ควรทำอย่างไร และควรระวังอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ฝากครรภ์ทันที

หากรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยการตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ หรือหากมีอาการที่สงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์​ ให้เข้ารับการตรวจและฝากครรภ์ทันที โดยคุณหมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และให้คุณแม่บอกอาการของตนเอง หากมีข้อสงสัยหรืออยากปรึกษาคุณหมอเรื่องไหน ก็สามารถปรึกษาได้เลย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์

2. รวบรวมประวัติครอบครัว

การรวบรวมประวัติข้อมูลสุขภาพของครอบครัวเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ทำให้สามารถเช็กได้ว่า ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคประจำตัว ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าลูกจะได้รับการถ่ายทอดโรคประจำตัวไปหรือไม่ และหาแนวทางการป้องกันโรคนั้นกับลูกน้อยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์

3.ทานวิตามินเสริม

วิตามินเสริมจะช่วยบำรุงร่างกายในส่วนที่ขาดหรือมีสารอาหารไม่เพียงพอ จากการที่คุณแม่มีสภาวะเบื่ออาหาร ทำให้การทานอาหารในชีวิตประจำวันค่อนข้างยากลำบาก ฉะนั้นการทานวิตามินเสริมจะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะทำให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย และส่งต่อให้ลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม

อาทิเช่น สารอาหารที่จำเป็นอย่างเช่น กรดโฟลิก ที่จะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด ส่งผลต่อสมอง หัวใจ และไขสันหลังของลูกน้อย และวิตามินที่มีสารอาหารที่จำเป็นอย่างแคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12 อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้คุณแม่ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดสรรวิตามินหรืออาหารเสริมที่เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละท่านนั่นเอง

4. ทานอาหารเพื่อสุขภาพ

ถึงจะทานวิตามินเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอาหารในชีวิตประจำวัน ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ ทานให้ครบ 5 หมู่ ทั้งสามมื้อ เน้นการทานคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ผักใบเขียว ผลไม้ต่าง ๆ

5. พักผ่อนให้เพียงพอ

สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติเมื่อตั้งครรภ์คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ หากคุณแม่นอนดึกหรือพักผ่อนน้อย อาจส่งผลให้ร่างกายมีความทรุดโทรม เหนื่อยล้าง่าย และสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ได้อีกด้วย ฉะนั้นการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสดชื่นสดใส มีแรง และยังสามารถช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์นี้ได้ด้วย

หวังว่าข้อมูลในบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่ หรือคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นความรู้ในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกน้อย อาการความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และข้อควรปฏิบัติเคล็ดลับต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจในสถานการณ์และเตรียมตัวรับมือไว้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกท่านด้วยนะคะ หากต้องการข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่และลูกน้อยสามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของเราได้ในเว็บไซต์นี้ค่ะ

อ่านเรื่องราวน่าสนใจในสัปดาห์ถัดไปของการตั้งครรภ์ได้ที่: ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์สุดท้ายได้ที่: ตั้งครรภ์ 1-42 สัปดาห์



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ที่มา : 1, 2